เมื่อวันที่ 20มี.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงกิจกรรม Earth Hour 2024 ว่า เรื่องสภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว และอยู่ใกล้ตัวเราจริง ๆ สาเหตุสำคัญของการเกิดสภาวะโลกร้อนก็คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหัวใจสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็มาจาก 2 สาเหตุหลัก ๆ อย่างแรก คือ การใช้พลังงาน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานในอาคารต่าง ๆ อย่างที่ 2 คือ เครื่องยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา เราจึงต้องร่วมมือกันรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงการลดโลกร้อน

สำหรับกิจกรรม Earth Hour คือการรวมพลังกันปิดไฟที่ไม่จำเป็น ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ร่วมกันลดใช้พลังงานทุกชนิดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง กทม.ได้ร่วมกับเมืองใหญ่กว่า 7,000 เมืองทั่วโลก ปิดไฟเชิงสัญลักษณ์พร้อมกันในที่ 23 มี.ค. 67 เวลา 20.30 – 21.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของแต่ละเมือง ทั้งนี้ ผลการจัดกิจกรรม Earth Hour เมื่อปี 2566 จากการคำนวณของการไฟฟ้านครหลวง พื้นที่กทม.สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 36 เมกะวัตต์ ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงประมาณ 5.2 ตันลดค่าไฟฟ้าคิดเป็นมูลค่า 61,324 บาท ซึ่งนับเป็นจำนวนที่ไม่น้อย แต่หัวใจคงไม่ใช่จำนวนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลง แต่เป็นการสร้างความตระหนักรู้ ให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญ ช่วยปกป้องโลก และช่วยกันลดโลกร้อน

เพราะจริงๆแล้ว โลกคือบ้านหลังเดียวของเรา “กทม.ขอเชิญชวนทุกคนช่วยกัน ในวันเสาร์นี้ตั้งแต่เวลา 20.30 – 21.30 น. โดยร่วมกันปิดไฟ ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ถอดปลั๊กออก เพื่อให้เราตระหนักรู้และตื่นตัวถึงการลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรณรงค์และกระตุ้นให้ทุกคนเห็นความสำคัญและร่วมกันลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น ในปี 2567 องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ได้ประกาศให้วันเสาร์ที่ 23 มี.ค.67 เป็นวันจัดกิจกรรม Earth Hour 2024 ซึ่งกทม.ได้ร่วมภาคีเครือข่าย ภาครัฐ เอกชน ร่วมกันรณรงค์การลดภาวะโลกร้อนมาอย่างต่อเนื่อง จึงขอเชิญชวนทุกคนร่วมกันปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้า และลดการใช้พลังงานทุกชนิดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง พร้อมกันทั่วโลกกว่า 7,000 เมือง 190 ประเทศ ในกิจกรรม ปิดไฟ 1 ชั่วโมงเพื่อลดโลกร้อน รวมทั้งกทม.ยังได้ประสานสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ เข้าร่วมปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ พระบรมมหาราชวัง (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร สะพานพระราม 8 เสาชิงช้า และภูเขาทอง (วัดสะเกศราชวรมหาวิหาร) .