เมื่อเวลา 14.20 น. วันที่ 21 มี.ค.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระ 2-3 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว

เข้าสู่ มาตรา 19 งบประมาณกระทรวงพาณิชย์ กมธ.ตัดลดงบประมาณเหลือ 4,025,717,700 บาท จากที่เสนอมา 4,064,154,500 บาท โดยนายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า เสนอตัดงบ 19.2 ล้านบาท ของสถาบันระหว่างประเทศ ใน 2 โครงการเกี่ยวกับการอบรม ได้แก่ 1.โครงการอบรมผู้บริหาร มูลค่า 17.32 ล้านบาท ให้ผู้บริหารเข้ามาร่วมอบรม 100 คน 2.โครงการเทศกาลส่งเสริมผู้ประกอบการสู่เวทีโลก 25.286 ล้านบาท เป็นโครงการที่ใช้จ่ายสูงเกินไปหรือไม่ เพราะแพงเกินไป เช่น ค่าอาหาร โดยเฉพาะอาหารว่าง มีมูลค่ากว่า 5.4 ล้านบาท ให้คน 1,800 คน ไม่แน่ใจจะหาคนมาอบรมตามจำนวนจริงหรือไม่ ส่วนสถานที่จัดงานกำหนดไว้ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จากการตรวจสอบพบว่า หากจะจัดบูธ 300-500 บูธ ราคาเฉลี่ยบูธละ 3,500 บาท รวมแล้วไม่ถึง 17 ล้านบาทตามที่ขอมา เต็มที่ไม่เกิน 8 ล้านบาท รวมถึงค่าทำโปรโมชั่นในสื่อออนไลน์ โครงการละ 2 ล้านบาท คุ้มค่าหรือไม่ เห็นว่ามีความผิดปกติ รวมถึงกลุ่มเป้าหมายที่ขอมา อาจไม่ตรงเป้าหมายที่ระบุจะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย หลังจากที่อภิปรายเสร็จสิ้นแล้ว ที่ประชุมลงมติเห็นชอบ มาตรา 19

ขณะที่ มาตรา 20 งบประมาณกระทรวงมหาดไทย ที่ กมธ.ตัดลดงบประมาณเหลือ 290,098,048,900 บาท จากที่เสนอมา 291,535,042,000 บาท มี สส.ให้ความสนใจอภิปรายจำนวนมาก โดยนายนิติพล ผิวเหมาะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ. อภิปรายให้ตัดงบประมาณกรมโยธาธิการและผังเมือง 29,332,000 บาท จากโครงการกำแพงกันคลื่น 6 โครงการ เนื่องจากเป็นงบประมาณที่ไม่มีความชัดเจน สนับสนุนวงจรอุบาทว์ทำลายชายหาดประเทศ เกิดความเสียหายต่อชายหาดประเทศไทยจำนวนมาก ได้ขอเอกสารโครงการดังกล่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมืองไปเมื่อวันที่ 13 ก.พ.2567 เพื่อขอดูรายละเอียด 6 โครงการ แต่กว่าจะได้รับเอกสารคือวันที่ 13 มี.ค.2567 ที่หมดเวลาพิจารณางบประมาณไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถท้วงติงในชั้น กมธ.ได้ จึงขอฝากเพื่อนสมาชิกให้ตัดงบที่ไม่มีความชัดเจนดังกล่าว

นายอิทธิพล ชลธราศิริ สส.ขอนแก่น พรรคก้าวไกล อภิปรายตัดงบกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) 142.3 ล้านบาท ในส่วนการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ดับเพลิง KA-32 จำนวน 1 ลำ มูลค่า 949 ล้านบาท ที่ตั้งงบรายจ่ายปี 2567 ไว้ 142.3 ล้านบาท และผูกพันงบประมาณปี 2568 อีก 806 ล้านบาท แม้จำเป็นต้องมีเฮลิคอปเตอร์ดับเพลิงอาคารสูง ควบคุมไฟป่า และบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ แต่ต้องปรับลดงบดังกล่าว เพราะ 1.ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องซื้อในเวลานี้ ปัจจุบัน ปภ.มีเฮลิคอปเตอร์รุ่นเดียวกัน 4 ลำ แต่ใช้งานตั้งแต่ปี 2563-2567 แค่ 25 ภารกิจ เฉลี่ยบินปีละ 5 ภารกิจ เป็นภารกิจดับไฟ ช่วยเหลือประชาชน 20 ภารกิจ ล่าสุดเพิ่งไปโชว์ภารกิจดูดน้ำดับไฟป่าให้นายกฯ ดูที่ จ.เชียงใหม่  2.ราคาแพง การจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ 4 ลำก่อนหน้านี้ ราคาจัดซื้อในต่างประเทศไม่ถึงลำละ 500 ล้านบาท รวมอุปกรณ์ดับเพลิง แต่ ปภ.จัดซื้อราคาลำละ 949 ล้านบาท ตอนที่ สส.ฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายค้านเคยคัดค้านการจัดซื้อดังกล่าว ขอให้แสดงจุดยืนเหมือนเดิม

นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า 3.การปฏิบัติภารกิจไม่ทันท่วงที ไม่เคยเห็นการดับไฟในอาคารสูงแม้แต่ครั้งเดียว ทั้ง 4 ลำ ไม่มีที่จอด ต้องอาศัยศูนย์กลางการบินกองทัพบก จ.ลพบุรี เป็นที่จอด และปภ.ไม่มีนักบินของตัวเอง ต้องยืมนักบินกองทัพบก ถ้าเกิดไฟไหม้ตึกสูงที่ กทม. ต้องใช้เวลาบินจากลพบุรีมา กทม. 45 นาที และหาแหล่งน้ำดิบมาเติม จะทำภารกิจทันท่วงทีได้อย่างไร 4.การดับไฟป่าไม่ใช่ภารกิจหลัก ปภ. เป็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีเฮลิคอปเตอร์ดับไฟป่าอยู่แล้ว การจัดซื้อครั้งนี้ ผู้เสนอราคาแค่รายเดียว เป็นรายเดิม ผิดปกติหรือไม่ ทราบว่าปี 2568 ปภ.จะตั้งงบซื้อเฮลิคอปเตอร์รุ่นนี้อีก 2 ลำ ไม่รู้มีอะไรหอมหวาน การจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวถูกคณะอนุกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ตัดงบทิ้งไปแล้ว แต่กลับมาคืนงบประมาณจัดซื้อให้ใหม่ในชั้น กมธ.ชุดใหญ่.