เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม วาระกระทู้ถามสดด้วยวาจา วันนี้ประกอบไปด้วย 3 กระทู้ โดยกระทู้แรก น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะรมว.คลัง ถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยนายเศรษฐามอบหมายให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นผู้ตอบกระทู้แทน

น.ส.ลิณธิภรณ์ เริ่มต้นขอบคุณนายจุลพันธ์ ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ให้ชี้แจงการแก้ไขปัญหา กยศ.ที่เรื้อรังมายาวนานของระบบการศึกษาไทย ซึ่งที่ผ่านมา หนี้ กยศ. เป็นหนี้เสียสูงสุดในประวัติศาสตร์หนี้ที่ไม่มีการชำระ สะท้อนว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง รัฐบาลเองก็เห็นเป็นปัญหาเร่งด่วน จึงแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อย ซึ่งหนี้ กยศ.จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับการแก้ไข ปัจจุบันมีลูกหนี้กว่า 3.5 ล้านราย จำนวน 454,645 ล้านบาท จะดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็วจะทำให้ปิดบัญชีผู้มีหนี้เร็วขึ้น จึงอยากถามคณะกรรมการว่ามีหลักเกณฑ์คำนวณหนี้สินยอดใหม่อย่างไร เพื่อให้ประชาชนรับทราบแนวทางผลการดำเนินการ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

นายจุลพันธ์ ลุกขึ้นกล่าวขอบคุณ น.ส.ลิณธิภรณ์ ที่เห็นความเดือดร้อนของประชาชน และเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้มาชี้แจง พร้อมย้ำว่า กยศ. เป็นปัญหามานาน นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้ไปดูแล และมีการทำงานร่วมกับคณะกรรมการหนี้รายย่อย หลังจากนั้น ได้มีการประชุมกันต่อเนื่อง โดย กยศ. ได้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการที่รองรับกฎหมายหลายประเด็น ได้มีการออกประกาศปรับปรุงยอดหนี้ กองทุน หลักเกณฑ์วิธีการเกี่ยวกับการคืนเงิน ส่วนที่ชำระเงินที่มีการปรับปรุงใหม่ รวมถึงระเบียบกองทุนที่งดบังคับคดีชั่วคราว สำหรับผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกัน

“หลังจากที่เราได้เข้าไปแล้ว สิ่งที่เราค้นพบและเตรียมเข้าไปแก้ไขตัวเลขเป็นที่น่าตกใจจริงๆ เพราะในส่วนของหนี้ที่คงค้างอยู่ในขณะนี้ 5.3 ล้านราย ผิดนัด 49% ถือเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วง มีผู้ถูกดำเนินคดีไปแล้ว ตั้งแต่ปี 47 จำนวน 5 ล้านคน” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์  กล่าวย้ำว่า รัฐบาลมีการปรับอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้เก็บดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี และเริ่มคำนวณดอกเบี้ยเมื่อดำเนินการกู้ นอกจากนี้ยังคิดเบี้ยปรับไม่เกินร้อยละ 0.5 ต่อปี เพื่อลดภาระให้กับผู้กู้ยืม นอกจากนี้ เมื่อก่อนกู้ได้แค่ ม.ปลายถึงอุดมศึกษาเท่านั้น แต่เกณฑ์ใหม่คือสามารถกู้ได้ในหลักสูตรอัพสกิล-รีสกิลด้วย และตัดเรื่องผู้ค้ำประกันออกไป

“วันนี้เราได้เปิดโอกาสให้กับผู้กู้ยืมปรับโครงสร้าง กฎเกณฑ์สัญญาที่มีอยู่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ยืนยันได้ว่าเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในกลุ่มที่เป็นผู้กู้ยืมมหาศาลแน่นอน” นายจุลพันธ์ กล่าว

ต่อมา น.ส.ลิณธิภรณ์ ถามคำถามที่ 2 ว่า หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการปรับนั้น ผ่านมา 1 ปี 2 เดือนแล้ว ยังไม่ได้บังคับใช้จริง จึงอยากถามถึงกรอบเวลาในการบังคับใช้ ทำให้นายจุลพันธ์ ตอบว่า วันที่รัฐบาลมาทำงาน กลไกในการปรับแก้ยังไม่เกิดขึ้น แต่ขณะนี้ได้เดินหน้าไปพอสมควรแล้ว เช่น ลดเบี้ยปรับเป็นร้อยละ 0.5 ปรับเปลี่ยนวิธีการปรับชำระหนี้ มีการนำยอดหนี้มาคำนวณใหม่ที่ตัดเงินต้นก่อนค่อยไปตัดดอกเบี้ย ผู้กู้ยืมบางรายสามารถปิดบัญชีได้ทันที มีการคืนเงินผู้ที่ชำระเกินหลังจากปรับเกณฑ์ นอกจากนี้ กองทุนยังได้มีการเปิดลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้ทั่วประเทศตั้งแต่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา เวลา 09.00-20.00 น. มาได้ทุกวัน กลุ่มที่ยังมีหนี้เดินมาหาพวกเราได้ เริ่มที่ กทม. ยะลา เชียงใหม่ นครราชสีมา ชลบุรี เชื่อว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์ 3.5 ล้านคน ผู้ค้ำประกันจะได้ประโยชน์หลุดค้ำประกันทันที และเรายังเดินหน้าทำงานต่อไป

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ได้ทำหนังสือถึงทนายความทุกแห่งว่าขอให้งดบังคับใช้คดี ส่วนปัญหาเฉพาะหน้าได้มีการขอระงับการขายทอดตลาดออกไปก่อน  ส่วนกรอบเวลา เรามีการแบ่งเป็นกลุ่ม 3 กลุ่ม ตามระดับของหนี้

น.ส.ลิณธิภรณ์ ขอบคุณนายจุลพันธ์อีกครั้ง ก่อนจะกล่าวว่าตนไม่มีคำถามที่ 3 เนื่องจากนายจุลพันธ์ตอบครบถ้วน ครอบคลุมแล้ว แต่มีข้อสังเกตไปถึง กยศ. ว่าจากตัวเลขคนที่ลงทะเบียนปรับโครงสร้างยังน้อยเกินไป ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐต้องประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลได้จริงจังกับการแก้ปัญหา

จากนั้นนายจุลพันธ์ จึงขอบคุณ น.ส.ลิณธิภรณ์ ต่อ และย้ำถึงการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล วันนี้แม้จะแก้ไขไปได้ระดับหนึ่ง แต่ยังมีเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ต้องแก้กันต่อ.