เมื่อวันที่ 28  มี.ค. ที่รัฐสภา สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เข้ายื่นแถลงการณ์ข้อกังวลต่อการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558  ถึงนายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ….  ผ่านนายพงษ์สรณัฐ ทองลี เลขานุการรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง และนายวิริภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ.วิสามัญฯ คนที่สอง เป็นตัวแทนรับหนังสือ

โดยแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. …. และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ นั้น เครือข่ายสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ เห็นด้วยที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประมงตามความเหมาะสมเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร  แต่จากร่างกฎหมายที่มีการเผยแพร่รับฟังความเห็นของรัฐสภา เรามีข้อกังวลใจและเห็นว่าจะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก จึงขอนำเรียนข้อกังวลและข้อเสนอถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในประเด็นดังต่อไปนี้

1.มีการยกเลิก ข้อกำหนดวัตถุประสงค์ “เพื่อปกป้องคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงท้องถิ่น” ถือเป็นการลดความสำคัญในการช่วยเหลือการประมงพื้นบ้านหรือการประมงขนาดเล็กลง ข้อเสนอ คือ ให้คงเนื้อหามาตรา 4 (2) ไว้เช่นเดิม ส่วนที่เพิ่มเติม ให้กำหนดเป็น (3)  2.มีการกำหนดให้สามารถลดเขตทะเลชายฝั่งลงได้อีกให้น้อยกว่า 1.5 ไมล์ทะเล เช่นนี้เท่ากับเปิดให้ประมงพาณิชย์สามารถเข้ามาทำการประมงใกล้เขตทะเลชายฝั่งมากขึ้น และการแก้ไขเขตทะเลชายฝั่งให้หดแคบลงน้อยกว่า 1.5 ไมล์ทะเล (น้อยกว่า 2,800 เมตร) เป็นการถดถอยล้าหลัง ยิ่งกว่า ปี พ.ศ. 2515 (ประกาศ ห้ามอวนลากอวนรุนเข้า 3,000 เมตร) และลดเขตอำนาจรับผิดชอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดลงด้วย ทำให้พื้นที่สำหรับอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนลดลงจนส่งผลต่อปริมาณสัตว์น้ำ และส่งผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้านที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการอนุรักษ์ทรัพยากร และทำการประมงด้วยเครื่องมือศักยภาพต่ำ

3.มีการกำหนดให้กรรมการภาคประชาชนในคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด มาจากการแต่งตั้ง โดยระบุให้เป็นอำนาจโดยตรงของผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้ไม่มีหลักประกันว่าจะมีการสรรหาคัดสรรอย่างไรให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรมและครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้จริง และควรกำหนดเขตรับผิดชอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดให้ครอบคลุมพื้นที่อย่างน้อย 12 ไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่ง 4.มีการเปิดช่องให้กลุ่มทุนประมงพาณิชย์ สามารถแทรกแซงครอบงำ “ประมงพื้นบ้าน” ได้  โดยฝ่ายบริหารไม่สามารถกำกับควบคุม ปกป้องสิทธิประโยชน์ของชุมชนประมงท้องถิ่นได้

5.เอื้อประโยชน์ให้ผู้ต้องการละเมิดกฎหมาย โดยนอกจากยกเลิกการจำคุกแล้ว ยังลดอัตราค่าปรับในการทำผิดให้น้อยลง และให้ประกันเรือออกไปทำประมงได้ซ้ำอีก ทั้งที่กฎหมายประมงฉบับ 2558 ได้ยกเลิกการลงโทษ “จำคุก” ทั้งหมดไปแล้ว และเปลี่ยนเป็นลงโทษด้วยการ “ปรับ” ในอัตราที่สูงขึ้นแทนอย่างเดียว เพื่อลงโทษผู้กระทำผิดให้หลาบจำ การที่ร่างกฎหมายประมงใหม่กำหนดให้ลดค่าปรับลง และเมื่อจ่ายค่าปรับแล้ว ให้ถือว่ายุติคดี กล่าวคือไม่ต้องส่งฟ้องศาล ไม่ต้องรับโทษริบเรือ หรือใด ๆ อีก และสามารถให้ญาติที่เป็น “ข้าราชการ” หรือ สินทรัพย์ ไป “ประกันเรือ” ออกไปทำประมงได้ปกติ โดยไม่ต้องถูกกักไว้ ระหว่างรอค่าปรับซึ่งจะยิ่งส่งเสริมการทำความผิด ไม่สนใจผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้านอีกต่อไป 

ขณะที่ นายปิยะ แย้มเทศ  นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า  เราเห็นด้วยกับการแก้ไข พ.ร.ก.การประมง 2558 แต่ต้องแก้ให้เหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อเรือประมงขนาดเล็ก โดยเรามองว่าในเรื่องเจตนารมณ์ วิสัยทัศน์ หรือเป้าหมายของการแก้กฎหมายในครั้งนี้ ซึ่งกฎหมายเดิมในมาตรา 4 (2) เขียนชัดเจนว่าต้องการช่วยเหลือสนับสนุนประมงพื้นบ้านและองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น แต่ร่างกฎหมายของพรรคการเมืองตัดเรื่องนี้ทิ้งไป ดังนั้นเราจำเป็นต้องยื่นหนังสือถึงนายปลอดประสพและกมธ.วิสามัญฯ ทั้งคณะเพื่อให้ทบทวนในเรื่องนี้    

“เราอยากให้มีความเข้าใจที่ตรงกันว่า เราอยากให้แก้กฎหมาย แต่แก้แล้วมันต้องมีความยั่งยืนและสร้างมาตรฐานที่มันเป็นสากล” นายปิยะ กล่าว

ด้านนายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group : MWG) กล่าวว่า ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มีข้อสังเกตและข้อกังวลใจ โดยเฉพาะในเรื่องผลกระทบต่อการจ้างงานและการคุ้มครองแรงงานในงานประมงต่อการพิจารณาการแก้ไขร่างพระราชกำหนดการประมง ดังนี้ 1.การตัดการแสดงเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องการคุ้มครองแรงงานและการใช้แรงงานประมงที่ผิดกฎหมายในมาตรา 4(4) ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและการใช้แรงงานประมงผิดกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่ามีกฎหมายคุ้มครองแรงงานประมงอยู่แล้ว อาจจะทำให้ละเลยประเด็นเรื่องการคุ้มครองแรงงานและการป้องกันการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมายที่ปรากฏอยู่ในส่วนอื่น ๆ ของกฎหมาย ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศคู่ค้า และมาตรการการค้าระหว่างประเทศได้ให้ความสนใจ 2.การยกเลิกการควบคุม การขนถ่ายกลางทะเลของสัตว์ทะเลที่จับได้ และการขนถ่ายลูกเรือกลางทะเลระหว่างการประมง ในอดีตการไม่ควบคุมในทั้งสองประเด็นนี้ ทำให้เกิดการควบคุมแรงงานประมงให้ทำงานอยู่บนเรือเป็นเวลานาน ในลักษณะที่เข้าข่ายเป็นการกักขังในทะเล ซึ่งกลายเป็นที่มาของการบังคับใช้แรงงานซึ่งมีผลกระทบต่อธุรกิจอาหารทะเล เมื่อต้องทำการค้าขายกับผู้ค้าในหลายประเทศ  

3.การรายงานคนประจำเรือ (Crew List) และการแก้ไขรายชื่อลูกเรือหลังจากออกจากท่า โดยเฉพาะบัญญัติมาตรา 83/1 ในร่างของพรรคฝั่งรัฐบาลรวมถึงร่างของพรรคก้าวไกล โดยมีข้อความว่า “ในกรณีที่มีความจำเป็น เรือประมงที่จะออกจากฝั่งเพื่อไปทำการประมง สามารถรับฝากคนประจำเรือหรือลูกเรือที่มีใบอนุญาตและหนังสือประจำตัวแล้วออกไปกับเรือเพื่อนำส่งให้กับเรือประมงลำอื่นที่ได้รับอนุญาตแล้วได้” ซึ่งจะส่งผลให้มีการนำคนงานขึ้นเรือเพิ่มเติมได้หลังจากการตรวจสอบที่ท่าเรืออย่างเป็นทางการแล้วเสร็จ ซึ่งจะเปิดโอกาสต่อความเป็นไปได้ในการค้ามนุษย์และการเอารัดเอาเปรียบแรงงานรวมถึงการใช้แรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน อีกทั้งเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ใช้วิจารณญาณที่ต้องมาตีความว่าเป็นเหตุจำเป็น

นายอดิศร กล่าวว่า 4.ในเชิงการบริหารจัดการการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการมาตรการทางการปกครอง มีข้อสังเกตที่ว่า การตัดผู้แทนจากกระทรวงแรงงานออกจากคณะกรรมการตามมาตรา 112 เดิม ทำให้คณะกรรมการในร่างกฎหมายใหม่ไม่มีผู้บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งอาจนำมาซึ่งข้อจำกัดไม่สามารถใช้มาตรการทางปกครองได้หากมีกรณีละเมิดสิทธิแรงงานเกิดขึ้นบนเรือประมง เนื่องจากคณะกรรมการขาดความรู้ความเข้าใจในบริบทการคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งการกระจายอำนาจให้แก่นักการเมืองท้องถิ่นในเขตทำประมง อาจทำให้อำนาจในการตรวจสอบผู้กระทำความผิดเป็นไปได้ยากมากขึ้น

ขณะที่นายพงษ์สรณัฐ กล่าวว่า จะส่งข้อเรียกร้องของภาคประชาชนไปให้ กมธ.วิสามัญฯ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการจัดทำร่างกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของรัฐสภาพร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำร่างกฎหมายต่างๆ อย่างเต็มที่.