เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 23 พ.ค. ที่หน้ารัฐสภา มีรายงานบรรยากาศการนัดชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เริ่มมีมวลชนทยอยเดินทางเข้าในพื้นที่ โดยเจ้าที่รัฐสภาและเจ้าที่ตำรวจได้พูดคุยหารือทำความเข้าใจในการในการมาชุมนุมวันนี้ โดยแกนนำประกาศยืนยันว่า กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นจะดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยได้มีการแจ้งการชุมนุม และประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และกิจกรรมจะถูกจัดขึ้นโดยยึดหลักความสงบเรียบร้อย ภายใต้หลักสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่เกรงจะกีดขวางการจราจร จึงได้อนุญาตให้ขึ้นไปอยู่บริเวณลานด้านหน้ารัฐสภา

สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นบนเวทีนั้น จะมีขึ้นในเวลา 17.00 น. มีนักวิชาการมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันบนเวที อาทิ นายอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายอุเชนทร์ เชียงแสน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ (เป่า iLAW) เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ “มายด์” สมาชิกแคมเปญโหวตเพื่อเปลี่ยน กล่าวว่า วันนี้กิจกรรมที่ได้ออกแบบกิจกรรมมาคือ การส่งเสียงไปถึง ส.ว. ถึงบทบาทที่จะยกมือเลือกนายกฯ นั้นมีความชอบธรรมอย่างไรหรือไม่ และอีกส่วนหนึ่งที่ ส.ว. หลายคนออกมาพูดในเงื่อนไขต่างๆ มากมาย จะยกมือหรือไม่ยกมือเลือกนายกฯ ตนคิดว่ากิจกรรมในวันนี้จะเป็นการย้ำเตือนว่าจริงๆ แล้วเขาไม่มีอำนาจและพิเคราะห์เสียงจากประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้ดุลพินิจของตนเอง ซึ่งที่มาก็ยังเป็นข้อครหาของพี่น้องประชาชนว่าการมาของ ส.ว.นั้นมาอย่างไร ทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจ ส.ว.ทั้ง 250 คนอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า มี ส.ว.บางกุล่มเห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีการนัดรวมตัวกัน ต่างมองว่าไม่น่าจะมาทำแบบนี้ น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า ตนขอแยกออกเป็น 2 ส่วน จริงๆ แล้ว ส.ว.ไม่ควรมีความเห็นอะไรเลยกับประชาชน ซึ่ง ส.ว.อาจจะหลงลืมไปในส่วนนี้ ตนยังยืนยันการใช้สิทธิของพี่น้องประชาชน ทางวุฒิสภาจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็เป็นเหตุผลของส่วนบุคคลกันไป แต่ไม่ควรที่จะมีผลต่อการตัดสินใจโหวตเลือกนายกฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การชุมนุมจะมีผลต่อการตัดสินใจของ ส.ว. ต่อการโหวตเลือกนายกฯ อย่างไร น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า ถ้ามองในมุมที่ดี การสื่อสารในวันนี้จะเป็นไปในทางที่ดี อย่างมีเหตุมีผล และไม่ใช่จังหวะที่ดุดันที่หลายคนคิดเอาไว้ เพราะถ้าหากเราพูดด้วยเหตุผลแล้ว แล้ว ส.ว.รับฟังกับเหตุผลที่ประชาชนได้นำเสนอไป ทาง ส.ว.จะใช้ดุลพินิจของตัวเองในการตัดสินใจ อย่างไรในการยกมือเลือกนายกฯ ตนขอยืนยันว่า ส.ว.ทั้ง 250 คน ไม่สามารถใช้ดุลพินิจของตัวเอง แต่ควรเป็นมติของประชาชน

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า การออกมาครั้งนี้ไวไปหรือไม่ เพราะอีก 2 เดือน กว่าจะโหวตเลือกนายกฯ น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า หลายคนอาจจะจำภาพการชุมนมที่รุนแรง ซึ่งเป็นเพราะภาครัฐที่มีการตอบโต้ผู้ชุมนุม ตนอยากชี้แจงว่า การเคลื่อนไหวทาวการเมือง ที่ค่อนข้างหลากหลายไม่ใช่มีเพียงการชุมนุมเพื่อกดดันเพียงอย่างเดียว การเสนอในแง่มุมอื่นๆ เช่น การพูดคุยไปด้วยดี ซึ่งยังมีอีกหลายวิธีมาก ตนอยากให้ลองดูสถานการณ์ในวันนี้ก่อน ที่เตรียมงานกันในวันนี้ไม่ต้องมีการให้ดุดัน แต่ต้องการส่งข้อมูลข่าวสารจากพี่น้องประชาชนไปยัง ส.ว. ทั้ง 250 คน

เมื่อถามว่า ในฐานะเป็นแกนนำมาก่อน มองอย่างไรกับรัฐบาลของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า ถ้าเป็นเสียงโหวตที่ได้มาจากประชาชนถือว่าเป็นฉันทามติว่าประชาชนอยากจะออกจากระบอบเผด็จการ ต้องการรัฐบาลใหม่ที่พลิกขั้วพลิกข้างเลย ถ้ารัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นเป็นไปตามประชาธิปไตย หวังว่าจะได้จัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว จะได้ตอบกลับสัญญากับพี่น้องประชาชนไว้จากการเลือกตั้ง

เมื่อถามว่า หวังอะไรในการทำงานของรัฐบาลนายพิธา น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า ตนก็หวังทุกรัฐบาล เพราะรัฐบาลชุดนี้มีการแก้ไขเชิงโครงสร้าง และเป็นการวางรากฐานไม่ให้เกิดการรัฐประหาร เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลชุดนี้จะสร้างกลไกไม่ให้เกิดการรัฐประหารขึ้น เป็นประชาธิปไตยไม่สามารถที่จะต่อรัฐประหารได้

เมื่อถามว่า เมื่อวาน (22 พ.ค.) ที่มีการเซ็นเอ็มโอยูร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรค ไม่มีเรื่อง มาตรา 112 ผิดหวังหรือไม่ น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า ตนคิดว่าหลายคนอาจจะคิดไม่ตรงกัน ส่วนตัวแล้วมองว่ามาตรา 112 ของพรรคร่วมรัฐบาล บางพรรคอาจจะไม่พูดอย่างชัดเจน แต่ถ้าทางพรรคก้าวไกลยืนยันว่าอย่างไรก็ต้องแก้ไข ตนเห็นว่าอย่างไรก็ต้องเกิดขึ้น

เมื่อถามย้ำว่า หากพรรคก้าวไกล ยังไม่เสนอเรื่อง มาตรา 112 แล้วไปผลักดันเรื่องอื่นก่อน มองเรื่องนี้อย่างไร น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า ตนมองว่าภายใน 4 ปีนี้ หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล ต้องมีเรื่องนี้อย่างแน่นอน แต่ถ้ารัฐบาลไม่ผลักดัน ประชาชนจะผลักดันเรื่องนี้อย่างแน่นอน

เมื่อถามว่า หากพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ มีมุมมองในประเด็นนี้อย่างไรบ้าง น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า ประชาชนมีสิทธิอย่างเต็มเปี่ยมในการเป็นประชาธิปไตย และเสียงโหวตของตัวเองที่ได้โหวตออกไปแล้ว ที่อยากได้รัฐบาลชุดใหม่ หากมีใครมาขัดขวางเสียงของประชาชน ประชาชนก็พร้อมที่จะออกมาปกป้องเสียงของตัวเองเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ส.ว. ยังไม่เคยแสดงอะไรออกมาว่าทำเพื่อประชาชน ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่จะแสดงให้เห็นว่าบ้านเมืองกลับมาเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง