เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 29 มี.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เข้าสู่การพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 31 ให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอ

โดยนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายว่า เราใช้รัฐธรรมนูญปี 60 มาแล้ว 6-7 ปี มีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาและมีข้อเสนอว่าจะต้องแก้ตรงนั้นตรงนี้มาตรานั้นมาตรานี้ แต่มีประเด็นทีจะต้องแก้ไข คือ 1.ที่มาขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะคุณสมบัติเพราะ สว. โหวตเลือกมา 5 ปี ยากมาก 2.การได้มาซึ่ง สว. ที่จะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค. โดยเฉพาะกระบวนการที่จะได้มา 3.การปฏิรูปประเทศ แต่เวลาปฏิบัติจริงที่เป็นมรรคเป็นผลไม่มีเลย เป็นเพียงแค่ตัวหนังสือเท่านั้น แต่คนที่จะปฏิรูปจริงคือรัฐบาล การที่เสนอญัตติให้แก้ไขประชามติถึง 3 ครั้ง อะไรกันหนักหนาต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 และปี 60 ทำเพียงครั้งเดียว ส่วนรัฐธรรมนูญปี 40 ก็ให้รัฐสภาลงมติ แต่ครั้งนี้แสดงว่า ปวงชนขาวไทยซ้อนปวงชนชาวไทย ซึ่งการทำประชามติครั้งละ 3 พันล้านบาท รวม 3 ครั้งแล้วเกือบหมื่นล้าน แต่ยังไม่รวมการตั้ง ส.ส.ร. ก็ใช้เงินอีก 3 พันล้าน และทำงาน 1-2 ปี ใช้เงินอีกหมื่นล้านบาท จะแก้รัฐธรรมนูญทั้งที่ต้องใช้เงินเกือบ 2 หมื่นล้าน แต่ในภาวะเศรษฐกิจของประเทศ แค่ 2 ครั้ง ก็มากเกินพอแล้ว

“ผมเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว เมื่อผ่านสภาไปแล้วว่าจะมีการทำรัฐธรรมนูญ แล้วใช้การตั้ง ส.ส.ร. ถามไปคราวเดียวกันกับมาตรา 256 (8) เพราะเป็นเพียงปฐมบทเริ่มต้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้แก้ไขใหม่ แต่สมาชิกหลายคน หลายพรรคเห็นว่า ถ้าทำไปแล้วจะมีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญและเสียของไปเปล่า เมื่อมีปัญหาข้อขัดแย้ง และประธานก็ไม่กล้าบรรจุ เกิดความขัดแย้งกัน เพราะฉะนั้นองค์กรที่จะวินิจฉัยคือศาลรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่ชอบแล้ว เพราะต่างฝ่ายก็มีข้อสงสัย ดังนั้นเพื่อหาข้อยุติก็ส่งศาล รธน. ส่วนศาลจะรับหรือไม่อย่างไร ก็เป็นสิ่งที่สมาชิกรัฐสภาดำเนินการตามญัตตินี้ชอบแล้ว” นายวันชัย กล่าว