เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่กระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เป็นประธานงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงคมนาคม ครบรอบ 112 ปี โดยมี นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงานในสังกัด และบุคลากรกระทรวงคมนาคมเข้าร่วมในพิธีฯ ทั้งนี้กระทรวงคมนาคม ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2455 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศพระบรมราชโองการให้เปลี่ยนชื่อ “กระทรวงโยธาธิการ” เป็น “กระทรวงคมนาคม”

จนปัจจุบันวันที่ 1 เมษายน 2567 ครบรอบ 112 ปี กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าภารกิจโครงการ เพื่อพัฒนาการคมนาคม จากพันธกิจในอดีตคือ การดูแลคมนาคมทางบก ทางน้ำ ทางราง และไปรษณีย์โทรเลข วิวัฒนาการสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างครบทุกมิติ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ และคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตามปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้มุ่งมั่นพัฒนาระบบการขนส่ง ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ สู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและจราจรในภูมิภาค ประกอบด้วย การพัฒนามิติทางถนน มีโครงการที่จะเปิดให้บริการในปี 67 อาทิ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) หมายเลข 81 (M81) สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี, มอเตอร์เวย์ M6 สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา และสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) จังหวัดบึงกาฬ เป็นต้น

ด้านการพัฒนาการขนส่งทางบก ได้พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก และสนับสนุนการขนส่ง เพิ่มประสิทธิภาพการกระจายสินค้า รวมทั้งการกำกับดูแล และยกระดับการให้บริการ การกำกับมาตรฐานความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการ โดยโครงการที่จะเปิดให้บริการในปี 67 อาทิ การพัฒนาระบบการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ (Feeder) ของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) 29 เส้นทาง และของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) 21 เส้นทาง เป็นต้น

ส่วนการพัฒนาการขนส่งทางราง ได้เร่งรัดโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ และรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 รถไฟความเร็วสูง และโครงข่ายการขนส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้บริการได้ตรงเวลา และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า และการเดินทางของประชาชน โดยโครงการที่จะเปิดให้บริการในปี 67 อาทิ รถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม – หัวหิน ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ และช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร เป็นต้น

ขณะที่การพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ได้ขยายขีดความสามารถการขนส่งทางน้ำ โดยเปิดประตูการค้าทางน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือ เร่งการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และการพัฒนาท่าเรือในภูมิภาค รวมทั้งการปรับปรุงท่าเรือโดยสารอัจฉริยะ (Smart Pier) โดยโครงการที่จะเปิดให้บริการในปี 67 อาทิ พัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา (Smart Pier) 4 ท่า ได้แก่ ท่าเรือพระราม 7 ท่าเรือปากเกร็ด ท่าเรือพระปิ่นเกล้า และท่าเรือพระราม 5

และการพัฒนาการขนส่งทางอากาศ ได้เร่งรัดการเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานหลักของประเทศให้รองรับผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น และขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค(Aviation Hub) รวมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านการบินให้มีคุณภาพ และเพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมการบิน โดยโครงการที่จะเปิดให้บริการในปี 67 อาทิ ทางวิ่ง(รันเวย์) เส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานตรัง และอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 พร้อมอาคารจอดรถยนต์ ท่าอากาศยานกระบี่ เป็นต้น.