เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ รพ.แม่สอด จ.ตาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ขณะลงพื้นที่ติดตามด้านการแพทย์และสาธารณสุข รองรับผู้หนีภัยสงครามเมียนมา ว่า วันนี้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตาม 2 จุด คือ รพ.แม่สอด เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมของ รพ. ในการดูแลรักษาพยาบาลผู้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ให้รองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และดูแลเรื่องขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน อีกจุดคือพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวที่ราชการจัดไว้ให้ผู้ประสบภัยมาพักอาศัยชั่วคราว โดยติดตามเรื่องของมิติการเฝ้าระวังป้องกันโรค และสภาพแวดล้อมไม่ให้กระทบต่อสุขภาพ

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รพ.แม่สอด มีความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินจากภัยพิบัติ โดยเฉพาะภัยสงคราม ที่ผ่านมามีการดูแลผู้ได้รับผลกระทบเป็นระยะ แต่มาเน้นหนักตั้งแต่คืนวันที่ 20 เม.ย. 2567 ที่มีผู้บาดเจ็บจากภัยสงครามเข้ามารักษาพร้อมกันถึง 22 คน จึงต้องประกาศแผนรองรับฉุกเฉินระดับ 3 หรือระดับรุนแรง คือ มีผู้ป่วยเข้ามาพร้อมกันมากกว่า 20 คนขึ้นไป เพื่อระดมทรัพยากรบุคคลและเครื่องมือต่างๆ มารองรับ ซึ่งเป็นการประกาศแผนรองรับฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ รพ. ไม่ได้เป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะเราไม่มีอำนาจ

“ถือเป็นเรื่องปกติ เมื่อมีผู้ป่วยเข้ามาจำนวนมากจากอุบัติเหตุหมู่ อุบัติภัยหมู่ ซึ่งสงครามก็ถือเป็นอุบัติภัยหมู่ ก็จะมีการประกาศแผนรองรับอยู่แล้ว โดยหลังประกาศแผนใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางก็ยุติแผนได้เลย ส่วนวันที่ 21-22 เม.ย. ก็เป็นการรับผู้ป่วยตามปกติ อย่างวันที่ 21 เม.ย. ก็มีผู้บาดเจ็บเข้ามา 16 คน แต่เป็นการทยอยเดินทางเข้ามารักษา ไม่ได้มาพร้อมกัน จึงไม่จำเป็นต้องประกาศใช้แผน” นพ.ชลน่าน กล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าาวว่า ผู้ป่วยในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เข้ามารับบริการและยังค้างอยู่ที่นี่ 82 คน ผ่าตัดแล้ว 29 คน รอผ่าตัดอีก 3 ราย ย้ำว่า เราดูแลแบบไม่แยกฝ่าย ถือเป็นผู้ประสบภัยไม่แยกฝ่ายไหนอย่างไร เมื่อรักษาหายออกจาก รพ. ได้ ฝ่ายความมั่นคงก็จะมารับตัวไปดำเนินการดูแลต่อ ซึ่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก (นพ.สสจ.) รายงานว่า ภาพรวมมีผู้ป่วยสะสม 113 ราย กระจายตาม รพ. ต่างๆ ทั้ง รพ.อุ้มผาง รพ.ตามตะเข็บชายแดน ส่วนใหญ่บาดเจ็บจากระเบิดที่เข้ามากระทบ รวมถึงบาดแผลจากอาวุธปืน การดำเนินการระดับจังหวัดจะแบ่งการเตรียมการรองรับไว้ 3 ระดับ คือ ระดับ 1 ผู้ป่วยไม่เยอะ เป็นแผนรองรับเฉพาะพื้นที่ รพ. บริหารจัดการจบใน รพ. ระดับ 2 มีผู้ป่วยมากขึ้นต้องระดมทรัพยากรในจังหวัดมาช่วยกัน ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 60 คน และระดับ 3 คือต้องใช้ทรัพยากรโดยรวมจากนอกเขต และต้องเปิด รพ.สนาม ขณะนี้ยังไม่ถึง นี่คือการเตรียมความพร้อม รวมถึงเครื่องมือบุคลากร ห้องผ่าตัด

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า อีกเรื่องคือ การดูแลผู้อพยพในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ซึ่งล่าสุดมีเหลืออยู่ประมาณ 1,600 คน จาก 3 พันคนที่เข้ามา มีทยอยกลับไปแล้ว เราดูแลมิติสุขภาพตรวจสอบว่ามีสถานะสุขภาพอย่างไร มีการวางระบบประเมินเข้าไปดูแลทางสุขาภิบาลอาหาร น้ำ และเฝ้าระวังโรค เช่น มุ้ง ยาต่างๆ ก็จะเตรียมพร้อมทั้งหมด

เมื่อถามว่าสถานการณ์ยังไม่จบง่ายๆ อาจมีการอพยพเข้ามาเพิ่ม นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราไม่ประมาทว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร เรามีมาตรการขั้นสูงสุดที่จะรองรับ ไม่ว่าสถานการณ์จะเกิดมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีเหตุการณ์เกิดถึงระดับ 3 เราก็ประกาศแผนระดับ 3 คือเราพร้อมรองรับ ในมุมของการเมืองเรื่องสิทธิมนุษยชน มิติสุขภาพ ความเป็นอันตราย ถ้าไม่เกิดจะดีที่สุด ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงต้องช่วยกัน ประเทศเราในมุมของการเมืองก้ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด การแพทย์และสาธารณสุขก็ดูแลสุขภาพเป็นหลัก สำหรับเรื่องทรัพยากรนั้น มีการดูอยู่ตลอด โดยเฉพาะการจัดหาศัลยแพทย์ระบบประสาท ทั้งนี้ ย้ำว่า หากมีผู้ป่วยบาดเจ็บเข้ามาพร้อมกัน ทาง รพ. สามารถเปิดห้องผ่าตัดได้ 4 ห้อง.