เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ห้องประชุมศรีอยุธยา หอวชิราวุธานุสรณ์ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรแถลงข่าวการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวยามค่ำคืน อุทยานศรีเทพ โดยนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ตามที่เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานในสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง เข้าสู่บัญชีมรดกโลกทางวัฒนธรรมได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2566 ส่งผลให้เกิดกระแสมีผู้เข้าเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพมากขึ้นกว่า 10 เท่า และนับจากวันที่ได้รับมรดกโลกจนถึงขณะนี้ มีนักท่องเที่ยวครบ 1 ล้านคนแล้ว ในโอกาสดังกล่าวกรมศิลปากร จึงจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองที่โบราณสถานเขาคลังนอก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 3-5 พ.ค. 2567 ตั้งแต่เวลา 18.00-21.00 น. เพื่อให้ประชาชนได้สัมผัสบรรยากาศการท่องเที่ยวโบราณสถานสำคัญที่สวยงามในช่วงค่ำคืน โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย 1.นิทรรศการ 120 ปี แห่งการค้นพบเมืองโบราณศรีเทพ 2.กิจกรรมส่งเสริมการสร้างงานศิลปกรรมแก่ชุมชน 3.การแสดง Light & Sound “มหัศจรรย์แสงแห่งศรีเทพ Si Thep World Heritage Illumination 2024”

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อไปว่า 4. ยลโขนมรดกโลกสัญจร เยือนนครประวัติศาสตร์ศรีเทพ ในวันที่ 3 พ.ค. 2567 เวลา 20.00-21.30 น. พบกับการแสดงโขน ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากยูเนสโก โดยสำนักการสังคีต นำการแสดงโขน ตอนลักนางสีดา ยกรบ ไปจัดแสดงท่ามกลางความงดงามของโบราณสถานยามค่ำคืน พร้อมการแสดงระบำศรีเทพที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ด้วยแนวคิดการประดิษฐ์ท่ารำจากลักษณะทางสถาปัตยกรรม โบราณวัตถุ รวมทั้งประติมากรรมปูนปั้นที่ฐานของโบราณสถาน นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมพิเศษการถ่ายภาพลงตราไปรษณียากร “Personalized Stamp” และการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้าน โดยนักเรียนและชาวบ้านในชุมชนโดยรอบเมืองโบราณศรีเทพด้วย

ด้านนายลสิต อิศรางกูร ณ อยุธยา ผอ.สำนักการสังคีต กล่าวว่า สำหรับระบำศรีเทพ เป็นระบำสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ จากแนวความคิดและประดิษฐ์ท่ารำ ของ น.ส.วันทนีย์ ม่วงบุญ ผู้ชำนาญการศิลปะการแสดง ร่วมกับนางสิริวรรณ อาจมังกร ผอ.กลุ่มนาฏศิลป์ และ น.ส.พิมพ์รัตน์ นะวะศิริ นาฏศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ซึ่งได้จินตนาการจากลักษณะทางสถาปัตยกรรม โบราณวัตถุ รวมทั้งประติมากรรมปูนปั้น อันปรากฏหลงเหลือประดับอยู่ที่ฐานโบราณสถาน สืบเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี โดยให้สอดคล้องกันกับท่วงทำนองจังหวะเพลงที่นายไชยยะ ทางมีศรี ผู้ชำนาญการด้านดุริยางค์ไทย ประพันธ์ขึ้นแล้วให้ชื่อว่า เพลงคู่ทวารวดี ซึ่งบรรเลงโดย ดุริยางคศิลปิน ทั้งยังให้สัมพันธ์กับเครื่องแต่งกายที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ โดยกลุ่มพัสตราภรณ์และเครื่องโรง