นายกิตติพงษ์ เรือนทิพย์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า กรุงไทยประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวปี 65 อาจมีเพียง 9.9 ล้านคน จากที่เคยสูงถึง 39.9 ล้านคนในปี 62 เพราะปัจจัยเสี่ยงจากการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ไทยมีโอกาสจะไม่รับนักท่องเที่ยวจากบางชาติ หรือหากมีการระบาดระลอกใหม่ในไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติก็อาจหลีกเลี่ยงการมาไทยได้  และจีนอาจยังไม่เปิดให้ประชาชนท่องเที่ยวระหว่างประเทศในปี 65 ซึ่งตัวเลขอาจสูงกว่านี้ได้ หากภาครัฐสามารถควบคุมการระบาดในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโควิด-19สายพันธุ์ใหม่ๆ

ทั้งนี้การเที่ยวด้วยตัวเองจะมีมากขึ้น ตั้งแต่เดือน มิ.ย.64 แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวมีความต้องการที่จะเที่ยวแบบกลุ่มเล็กหรือเที่ยวด้วยตัวเอง ในช่วงหลังโควิด ซึ่งอาจมาจากเหตุผลด้านความปลอดภัยเนื่องจากการเที่ยวกลุ่มใหญ่กับกรุ๊ปทัวร์มีความเสี่ยงที่จะติดโรคมากกว่า โดยมีการใช้จ่ายต่อทริปที่สูงขึ้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวกลุ่มพรีเมียมจะฟื้นตัวก่อน คาดว่านักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูงจะเป็นกลุ่มที่กลับมาเที่ยวก่อน เนื่องจากน่าจะเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการเดินทางมาท่องเที่ยวได้มากกว่ากลุ่มอื่นที่อาจได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด

นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า การระบาดระลอก 3 ยืดเยื้อรุนแรงกว่าคาด กดดันให้จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศทั้งปีอาจเหลือเพียง 63.6 ล้านคน-ครั้ง ผลของการระบาดและการมีมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ครั้งล่าสุดทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศเดือน ก.ค. มีโอกาสอยู่ในระดับต่ำ และทำให้การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวชะลอลงไปอีก ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวในประเทศปีนี้เหลือเพียง 63.6 ล้านคน-ครั้ง ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ช่วงจากที่เคยประเมินไว้ที่ 81.2 ล้านคน-ครั้ง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท

“ผลกระทบจากการระบาดในประเทศระลอก 3 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศในเดือน พ.ค. อยู่ที่เพียง 1.4 ล้านคน ต่ำที่สุดในรอบ 1 ปี ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่เพียง 5% เท่านั้น คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยว ในเดือน มิ.ย. น่าจะอยู่ระดับต่ำไม่ต่างกับเดือน พ.ค. เท่าใดนัก ส่วนการท่องเที่ยวในเดือน ก.ค. ยังไม่ฟื้น จากภาวะระบาดรุนแรงและมาตรการกึ่งล็อกดาวน์รอบล่าสุด ประกอบกับมาตรการควบคุมการระบาด ที่ผู้ที่เดินทางจากจังหวัดสีแดงเข้มทั้ง 10 จังหวัด (มีกรุงเทพฯ รวมอยู่ด้วย) ต้องกักตัวเมื่อเดินทางไปจังหวัดอื่น ตลอดจนการห้ามรับประทานอาหารในร้านในหลายจังหวัดที่มีการระบาด ล้วนเป็นปัจจัยลบในการตัดสินใจที่จะเดินทางท่องเที่ยว ทำให้คาดว่าการท่องเที่ยวคงไม่สามารถฟื้นตัวได้ในเดือน ก.ค.”