กลุ่มวิจัยจากมหาวิทยาลับโทโฮกุเพิ่งเผยแพร่ผลที่ได้จากกรณีศึกษาครั้งล่าสุดเกี่ยวกับการใช้นามสกุลของคนญี่ปุ่นว่า การกำหนดให้คู่สามีภรรยาต้องใช้นามสกุลเดียวกันอาจทำลายความหลากหลายของชื่อนามสกุลในประเทศญี่ปุ่น

กรณีศึกษานี้เป็นโครงการหนึ่งของ Think Name Project ซึ่งอยู่ในความดูแลของกลุ่มอาสึนิวะ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้คำปรึกษาด้านการเลือกใช้นามสกุล

แม้ว่าคู่สามีภรรยาชาวญี่ปุ่นจะสามารถเลือกใช้นามสกุลได้ตามความต้องการ ขอเพียงเป็นนามสกุลเดียวกัน โดยจะเป็นนามสกุลฝั่งสามีหรือฝั่งภรรยาก็ได้ แต่ผู้หญิงญี่ปุ่นราว 95% ก็เลือกที่จะใช้นามสกุลตามสามี

ในกรณีศึกษานี้ ศาสตราจารย์ฮิโรชิ โยชิดะ ได้ลองสร้างแบบจำลองการใช้นามสกุลภายใต้เงื่อนไขทางกฎหมายสมรสของญี่ปุ่นในปัจจุบัน แล้วจึงสร้างแบบจำลองแบบที่ 2 โดยใช้เงื่อนไขที่คู่สมรสเลือกใช้นามสกุลไม่เหมือนกัน

จากการศึกษาพบว่า นามสกุล “ซาโตะ” ซึ่งเป็นนามสกุลใหญ่ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในญี่ปุ่น จะกลายเป็นนามสกุลเพียงชื่อเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ภายในระยะเวลาราว 500 ปี

ศจ. โยชิดะ กล่าวว่า ถ้าหากในอนาคต คนญี่ปุ่นทุกคนใช้นามสกุลว่า ซาโตะ สังคมญี่ปุ่นก็อาจจะต้องเปลี่ยนการเรียกชื่อบุคคลอื่นด้วยชื่อตัวแทนชื่อสกุล หรืออาจจะใช้เป็นหมายเลข ซึ่งเขาคิดว่าคงไม่ใช่สังคมที่น่าอยู่เท่าไหร่นัก

ศจ. โยชิดะ ยังทดลองคำนวณด้วยเงื่อนไขที่สามีภรรยาใช้นามสกุลต่างกันได้ ผลก็คือกว่าคนญี่ปุ่นทุกคนจะต้องใช้นามสกุล ซาโตะ ก็ต้องใช้เวลานานถึง 750 ปี

อย่างไรก็ตาม ในรายงานก็ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า นามสกุลที่หลากหลายของคนญี่ปุ่นอาจจะหายไปในอัตราเร็วขึ้นเพราะอัตราการเกิดของประชากรที่ลดต่ำลง

ในวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสตรีสากล กลุ่มนักเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นได้ถือโอกาสออกมาประท้วงให้ทางการญี่ปุ่นยุติการบังคับใช้กฎหมายที่กำหนดว่าสามีภรรยาต้องใช้นามสกุลเดียวกัน โดยให้เหตุผลว่าการบีบให้ฝ่ายหญิงเปลี่ยนนามสกุลตามสามีนั้นเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อความเท่าเทียมกันทางเพศ

ที่มา : nextshark.com

เครดิตภาพ : think–name-jp.