สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ว่า ผู้นำเช็กแถลงปฏิรูปเงินบำนาญ โดยจะเพิ่มอายุเกษียณขึ้นเป็น 65 ปี เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมสูงวัย

การปฏิรูปดังกล่าว คาดว่าจะมีผลในปี 2568 และจะถูกเสนอต่อรัฐสภา ซึ่งพรรครัฐบาลกุมเสียงข้างมากอยู่ ณ ขณะนี้ ในลำดับต่อไป

“การปฏิรูปจะประกันสิทธิเงินบำนาญในอนาคตของประชาชนวัย 30 และ 40 ในวันนี้” นายฟิอาลา ระบุในแถลงการณ์ “หากเราไม่อนุมัติ ระบบบำนาญจะไม่ยั่งยืนและอาจล่มสลายไม่ช้าก็เร็ว” เขากล่าวเสริม

มีการขยายอายุเกษียณอย่างต่อเนื่อง และอายุเกษียณของผู้ที่เกิดหลังปี 2514 จะถูกกำหนดไว้ที่ 65 ปี

ด้วยเหตุนี้ อายุเกษียณอาจถูกกำหนดขึ้นทุกปี สำหรับผู้ที่เพิ่งอายุ 50 ปี และจะเพิ่มขึ้นตามอายุขัย โดยมีการคาดการณ์ว่า ชาวเช็กโดยเฉลี่ยจะใช้เวลาในวัยเกษียณ เฉลี่ย 21.5 ปี

รัฐบาลคาดว่า หลังการปฏิรูปดังกล่าว บัญชีเงินบำนาญของรัฐจะขาดดุลร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2593 ในทางกลับกัน หากไม่มีการปฏิรูปอายุเกษียณ อาจส่งผลให้มีการขาดดุลถึงร้อยละ 5

“เรามีผู้รับบำนาญ 1 ต่อ 5 คน เมื่อปี 2543 แต่ในปี 2593 จะมีผู้รับบำนาญ 1 ต่อ 2 คน มันสื่อให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เราควรดำเนินการบางอย่าง” ผู้นำเช็กให้ข้อมูลพิ่มเติม

ทั้งนี้ เงินบำนาญขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย และจะอนุญาตให้ผู้ประกอบอาชีพเสี่ยง เกษียณอายุก่อนกำหนดได้ถึง 5 ปี

อนึ่ง สาธารณรัฐเช็กเป็นหนึ่งในสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) มีประชากร 10.9 ล้านคน เศรษฐกิจในประเทศส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการผลิตรถยนต์ และการส่งออกไปยังยูโรโซน.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES