สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ว่า ไอทีแอลโอเอส พบว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถือเป็นมลพิษทางทะเล และประเทศต่าง ๆ มีพันธกรณีในการดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อมหาสมุทร

ทั้งนี้ ประเทศเกาะ 9 ประเทศ ที่ร่วมกันยื่นคดีต่อไอทีแอลโอเอส เมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว ได้แก่ แอนทีกาและบาร์บิวดา, วานูอาตู, ตูวาลู, บาฮามาส, นีอูเอ, ปาเลา, เซนต์คิตส์และเนวิส, เซนต์ลูเซีย รวมถึงเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ ยกย่องคำตัดสินของศาลว่าเป็น “เหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์”

ขณะที่ผู้สัดทันกรณีหลายคนกล่าวเพิ่มเติมว่า คำตัดสินดังกล่าวจะมีอิทธิพลในการกำหนดขอบเขตของการดำเนินคดีด้านสภาพอากาศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในอนาคตด้วย

“การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ อันเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (อันคลอส) ด้วยเหตุนี้ ประเทศที่ก่อมลพิษจึงมีพันธกรณีเฉพาะ ในการดำเนินมาตรการทั้งหมดที่จำเป็น เพื่อทำให้แน่ใจว่า การปล่อยมลพิษภายใต้เขตอำนาจศาล หรือการควบคุมของพวกเขา จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายจากมลพิษ ต่อรัฐอื่น ๆ และสิ่งแวดล้อมของพวกเขา” ไอทีแอลโอเอส ระบุ

อนึ่ง ประเด็นสำคัญของคดีข้างต้นคือ อนุสัญญาอันคลอส ซึ่งให้คำจำกัดความมลพิษ ว่าเป็นการนำสารหรือพลังงานออกสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเลโดยมนุษย์ ซึ่งนำไปสู่อันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล ทว่าอนุสัญญาฉบับนี้ไม่ได้ระบุว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารก่อมลพิษโดยเฉพาะ ส่งผลให้ฝ่ายโจทก์โต้แย้งว่า การปล่อยก๊าซเหล่านี้ เข้าข่ายตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญา

“นี่ถือเป็นการตัดสินครั้งแรกของไอทีแอลโอเอส และให้ความกระจ่างเกี่ยวกับพันธกรณี ที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ของประเทศสมาชิก 169 ประเทศ ในอนุสัญญาอันคลอส” ประเทศเกาะทั้ง 9 ประเทศ ระบุในแถลงการณ์.

เครดิตภาพ : AFP