นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยในงานแบงค็อก ฟินเทคแฟร์ 2021 ว่า ในปี 65 เครดิตบูโรเตรียมแยกข้อมูลของลูกหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลออกมาอีกประเภท จากปัจจุบันการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการก่อหนี้และการชำระหนี้ของคนไทยตั้งแต่ปี 45 มี 2 ส่วน คือ ส่วนข้อมูลที่มีตัวตน และมีความลับสูง ซึ่งสามารถระบุได้ว่า บุคคลนั้นมีการก่อหนี้ที่ใดบ้าง ซึ่งปัจจุบันมีการเก็บข้อมูลลูกหนี้รวม 31 ล้านลูกหนี้ หรือ 120 ล้านบัญชี

นอกจากนี้อีกส่วน คือ ข้อมูลลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคล 340,000 บริษัท มีบัญชี 4.5 ล้านบัญชีสินเชื่อ ซึ่งการแยกข้อมูลว่าบุคคลใดเป็นเอสเอ็มอี และนิติบุคคลรายใดเป็นนิติบุคคลเอสเอ็มอี เพื่อเกิดส่วนตรงกลางเรียกว่า ถังเอสเอ็มอีเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถระบุพฤติกรรมได้แน่ชัดว่า นิติบุคคล หรือ เอสเอ็มอีรายนั้นกู้ยืมเพื่อใช้จ่าย หรือ เพื่อใช้ในการทำธุรกิจ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในช่วงเกิดวิกฤติโควิด เครดิตบูโรได้นำฐานข้อมูลลูกหนี้บุคคลธรรมดา 3 ล้านคน หรือ คิดเป็น 10% ของฐานข้อมูล โดยใช้เกณฑ์เครดิตสกอริ่ง เพื่อวิเคราะห์ว่ามีความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร ทั้งช่วงก่อนโควิด สิ้นปี 62 ระหว่างการแพร่ระบาดโควิด และช่วงสิ้นปี 63 ที่จะเจอสายพันธุ์เดลต้า พบว่า มีคนตกเกรดเครดิตสกอริ่ง หรือ เกรดเคลื่อนที่ เช่น คนที่ระดับคะแนนดับเบิลซี ไหลมาอยู่คะแนนดับเบิลดี หรือ คนอยู่ระดับดับเบิ้ลเอเคยได้คะแนนสูง คะแนนต่ำลงมา

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการบริหาร แกร็บ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มร้านค้า และคนขับไรเดอร์ ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ ส่วนใหญ่จะเข้าถึงได้แค่การเปิดบัญชีเงินฝาก หรือ ซื้อประกันเท่านั้น แต่หากเป็นการขอสินเชื่อเงินสด หรือ สินเชื่อผ่อนสินค้า จะเริ่มมีทางเลือกน้อยลง เนื่องจากวิธีการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน จะต้องมีข้อมูลแบบใดแบบหนึ่ง คือ ข้อมูลเครดิตบูโร เพื่อพิสูจน์ประวัติทางการเงิน รวมถึงสินเชื่อบางประเภทจะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ซึ่งกลุ่มร้านค้า และคนขับมอเตอร์ไซค์จะไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ แกร็บจึงนำข้อมูลที่กลุ่มคนขับ ร้านอาหาร หรือข้อมูลยอดขายผ่านแพลตฟอร์มของแกร็บ คะแนนเรตติ้งร้านค้า มาเป็นเครดิตเพื่อใช้ประเมินการให้สินเชื่อได้

ส่วนกรณีการรักษาความลับของลูกค้านั้น ยืนยันว่า ปัจจุบันแกร็บมีแนวทางการเก็บข้อมูลของร้านค้า ลูกค้า หรือผู้ซื้อ คนขับไว้อย่างปลอดภัย และไม่มีใครสามารถเข้าถึงบริการของข้อมูลชุดนี้ได้ แม้แต่บริษัทในเครือ เพราะจะต้องได้รับการยินยอมจากลูกค้าเป็นรายๆ ไป ขณะที่กรณีที่มีข่าวเรื่องการถูกเจาะข้อมูลจากแพลตฟอร์มนั้น มองว่า เป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะหากแพลตฟอร์มไม่สามารถดูแลหรือรักษาข้อมูลได้อย่างถูกวิธีก็จะทำให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลได้  แต่แกร็บยืนยันว่า ข้อมูลของลูกค้าไม่มีการรั่วไหล และปลอดภัย เป็นความลับแน่นอน

น.ส.มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซี กรุ๊ป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้ขายบนช้อปปี้จะเป็นตั้งแต่ระดับรายย่อย รายขนาดกลางและรายเล็ก ทำให้มีความยากในการเข้าถึงสินเชื่อ เนื่องจากไม่มีหลักฐานรายการเดินบัญชีดังนั้น ช้อปปี้จึงได้มีแนวคิดในการใช้ข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่เริ่มขายของ พฤติกรรมการขายของบนช้อปปี้แพลตฟอร์มเป็นอย่างไร เพื่อเก็บข้อมูลและนำมาวิเคราะห์เป็นเครดิตสกอริ่ง และวิเคราะห์การให้สินเชื่อกับผู้ขายบนแพลตฟอร์มช้อปปี้

อย่างไรก็ตามข้อมูลลูกค้าถือเป็นความลับและความปลอดภัย ที่ผ่านมาอาจเห็นประชาชนโดนแฮกข้อมูล โดยการขอโอทีพี ซึ่งหากลูกค้ารู้ไม่เท่าทันให้ข้อมูลไป ระบบไม่ว่าจะดีแค่ไหนก็ตาม ก็สามารถเกิดการรั่วไหลของข้อมูลได้เช่นกัน ดังนั้นเรื่องนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และให้ความรู้กับประชาชนให้เกิดความเข้าใจ และเข้าถึงการบริการทางการเงินได้อย่างรู้เท่าทันด้วย