นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานเปิดสัมมนาและมอบนโยบายเรื่องแนวทางการปฏิบัติราชการของ ทล. ประจำปีงบประมาณ 65 เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา ทล.ได้รายงานเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 65 รวมทั้งสิ้น 113,348.0486 ล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุน 107,371.2051 ล้านบาท หรือ 94.73% งบบุคลากร 4,868.8220 ล้านบาท หรือ 4.30% งบรายจ่ายอื่น 655.7067 ล้านบาท หรือ 0.58% งบดำเนินงาน 452.0228 ล้านบาท หรือ 0.40% และ งบเงินอุดหนุน 0.2920 ล้านบาท หรือ 0.0003%

ในปี 65 ทล. จะดำเนินโครงการสำคัญ โดยเฉพาะแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ โครงการบูรณะโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างภาค 6,095 ล้านบาท ระยะทาง 399 กม. โครงการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน 49,438 ล้านบาท 2,477 กม. ก่อสร้างสะพาน 44 แห่ง โครงการพัฒนาจุดจอดพักรถและสถานีตรวจสอบน้ำหนัก 1,981 ล้านบาท ก่อสร้างจุดจอดพักรถ/สถานีตรวจสอบน้ำหนัก 72 แห่ง และ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยบนทางหลวง 3,526 ล้านบาท ปรับปรุงทาง 235 แห่ง

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า สำหรับแผนงานสำคัญขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติปี 65-66 ได้แก่ พัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และทางหลวงแผ่นดินในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด เชื่อมโยงพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และเมืองหลักโดยรอบไปยังภูมิภาคต่างๆ 6 โครงการ ระยะทางรวม 168.28 กม. วงเงินลงทุน 202,265 ล้านบาท ได้แก่

1.มอเตอร์เวย์หมายเลข 82 (M82) สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว 25 กม. วงเงิน 32,220 ล้านบาท สร้างปี 64-67 งานโยธาจะใช้เงินกองทุนมอเตอร์เวย์ และเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ดำเนินงานและบำรุงรักษา Operation and Maintenance (O&M) 2.มอเตอร์เวย์หมายเลข 9 (M9) วงแหวนตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง 36 กม. วงเงิน 56,035 ล้านบาท สร้างปี 65-68 เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP งานโยธาและงานระบบ O&M

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า 3.มอเตอร์เวย์หมายเลข 5 (M5) ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน 22 กม. วงเงิน 27,800 ล้านบาท สร้างปี 66-69 .ให้เอกชนร่วมลงทุน PPP ทั้งงานโยธาและงานระบบ O&M 4.ทางแนวใหม่เชื่อมต่อมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน-นครราชสีมา กับทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนสายเอเซีย) 4.28 กม. วงเงิน 4,700 ล้านบาท สร้างปี 66-68 รัฐดำเนินการเองทั้งงานโยธา และงาน O&M

5.มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 (M7) ทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ 18 กม. วงเงิน 29,550 ล้านบาท สร้างปี 67-70 ให้เอกชนร่วมลงทุน PPP งานโยธา และงาน O&M และ 6.มอเตอร์เวย์ M8 สายนครปฐม-ชะอำ ช่วงนครปฐม-ปากท่อ 63 กม. วงเงิน 51,760 ล้านบาท สร้างปี 67-70 รัฐดำเนินงานโยธา และให้เอกชนลงทุน PPP งานระบบ O&M

นายสราวุธ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้จะพัฒนาโครงข่ายการขนส่ง (Missing Links) แก้ปัญหาคอขวดบนถนนสายรอง โดยศึกษาออกแบบ และก่อสร้างทางแนวใหม่หรือขยายช่องจราจร เพื่อยกระดับมาตรฐานโครงข่ายถนนสายรอง เชื่อมต่อการเดินทางที่สะดวก คล่องตัว ไร้รอยต่อ เช่น ทล.348 และ ทล.3486 ช่องเขาตะโก ในปี 65 เริ่มสำรวจออกแบบเป็น 4 ช่องจราจร 49 กม., ทล.221 สายศรีสะเกษ-อ.พยุห์ 6 กม. วงเงิน 220 ล้านบาท เริ่มก่อสร้าง 4 ช่องจราจรในปี 65, ทางแนวใหม่เชื่อมต่อสามแยกวังมะนาว-บรรจบ ทล.3510 ระยะทาง 36.8 กม. วงเงิน 3,042 ล้านบาท อยู่ระหว่างสำรวจออกแบบจะแล้วเสร็จในปี 65 และ ทล.11 อ.อินทร์บุรี-อ.สากเหล็ก 20.665 กม. วงเงิน 1,300 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างขยาย 4 ช่องจราจรในปี 65