เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงข่าวผ่านไลฟ์สดเพจ กระทรวงสาธารณสุข ถึงกรณีการบริหารจัดการวัคซีน และการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ว่า ขณะนี้มีการฉีดวัคซีน 12,569,213 โด๊ส เป็นเข็มแรก 9,301,407 โด๊ส แสดงว่าประชาชนเกิน 10% ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม  ในระยะต่อไปกระทรวงจะทยอยส่งมอบวัคซีนไปยังจุดฉีดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ล้านโด๊ส และแนวปฏิบัติขณะนี้ เนื่องจากมีการระบาดค่อนข้างมากใน กทม. และปริมณฑล ดังนั้น ใน 2 สัปดาห์นี้จะฉีด ผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรค โดยเฉพาะพื้นที่ระบาด เช่น สัปดาห์นี้ จะส่งวัคซีนใน กทม. 7 แสนโด๊ส ลงไปใน 126 จุดฉีดใน กทม. และ 21 จุดฉีดนอก รพ.

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า วันนี้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีประเด็น 1. การให้วัคซีนโควิดสลับชนิดกันเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันได้สูง จึงมีมติให้มีการฉีดวัคซีนสลับชนิดกัน โดยเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค หลังจากนั้น 3-4 สัปดาห์ ฉีดแอสตราเซเนกา ซึ่งมีผลทดลองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ข้อมูล 3 แหล่งตรงกันว่าถ้าฉีดวัคซีนสลับชนิดกันจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง ใกล้เคียงกับการฉีดแอสตราฯ 2 เข็ม แต่ใช้เวลาสร้างภูมิฯ สั้นกว่า เดิม ฉีดแอสตราฯ ต้องใช้เวลา 12 สัปดาห์ถึงจะฉีดเข็ม 2 แต่ถ้าเราใช้วิธีนี้จะร่นเวลาสร้างภูมิคุ้มกันเร็วขึ้น ส่วนกรณีฉีดแอสตราฯ เข็มที่ 1 ข้อแนะนำยังให้ฉีดแอสตราฯ เป็นเข็ม 2 ไม่มีการสลับชนิดตรงนี้ 

นอกจากนี้ ยังมีมติให้ฉีดวัคซีนกระตุ้น หรือบูสเตอร์โด๊สเข็ม 3 ให้กับบุคลากรการแพทย์ ด้วยวัคซีนต่างชนิดกัน โดยห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 3-4 สัปดาห์ โดยใช้วัคซีนแอสตราฯ หรือ ไฟเซอร์ ซึ่งจากนี้จะแจ้งผู้เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

เมื่อถามว่าวัคซีนแอสตราฯ และไฟเซอร์ จะเริ่มฉีดบูสเตอร์โด๊สให้บุคลากรได้เมื่อไหร่ และในส่วนของกรณีประชาชนที่ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็ม แล้วจะได้รับการฉีดบูสเตอร์เมื่อไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ประการแรก วัคซีนไฟเซอร์ ที่บริจาคจากสหรัฐอเมริกายังไม่ได้ส่งมาที่ประเทศไทย กำลังหารือในรายละเอียดจำนวน และเวลาส่งมอบ ประการที่ 2 การฉีดกระตุ้น ขณะนี้การดำเนินการจะใช้แอสตราฯ ในบุคลากรด่านหน้า ดำเนินการเมื่อมีความพร้อมทันที ส่วนประชาชนที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว การฉีดบูสเตอร์ก็จะดำเนินการต่อไป ก็จะดูข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วนต่อไป.