รายงานข่าวจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) แจ้งว่า ในวันที่ 17-18 พ.ย.64 ทย. จะจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการออกแบบงานก่อสร้าง พร้อมศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขยายทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน และส่วนประกอบอื่นๆ ท่าอากาศยานเบตง ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อชี้แจงความเป็นมา วัตถุประสงค์ขอบเขต การศึกษา และแผนงานการดำเนินงานของโครงการต่อกลุ่มเป้าหมายต่างๆ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อโครงการฯ ด้วย 

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น จะแบ่งเป็น 3 เวที ประกอบด้วย เวทีที่ 1 วันที่ 17 พ.ย.64 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 1 โรงแรมแกรนด์วิว แลนด์มาร์ค เบตง อ.เบตง จ.ยะลา ควบคู่กับการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โปรแกรม ZOOM MEETING (Meeting ID : 958 6462 2414 Passcode : 88788), เวทีที่ 2 วันที่ 17 พ.ย.64 เวลา 13.30-16.30 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 4 สถานีตำรวจภูธรยะรม อ.เบตง จ.ยะลา และเวทีที่ 3 วันที่ 18 พ.ย.64 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 4 สถานีตำรวจภูธรยะรม 

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า การออกแบบงานก่อสร้างฯ ครั้งนี้ ทย. ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด(มหาชน), บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอ็นทิค จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ โดยเบื้องต้นแผนงานในการพัฒนาท่าอากาศยานเบตง ประกอบด้วย การขยายความยาวทางวิ่ง (รันเวย์) จากปัจจุบัน 1,800 เมตร เป็น 2,500 เมตร เพื่อให้สามารถรองรับอากาศยานขนาด 180 ที่นั่งได้ ซึ่งขณะนี้รองรับได้เพียงอากาศยานขนาด 80 ที่นั่ง

นอกจากนี้จะขยายพื้นที่ปลอดภัยปลายทางรันเวย์ทั้งทิศตะวันออก และตะวันตก ทิศละ 240 เมตรตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งขยายทางขับ (แท็กซี่เวย์) จากความกว้าง 18 เมตรเป็น 23 เมตร และขยายลานจอดเครื่องบิน จากเดิมที่มีขนาด 94X180 เมตร เป็นขนาด 94X240 เมตร เพื่อทำให้ท่าอากาศยานเบตง สามารถจอดเครื่องบินขนาด 180 ที่นั่งได้ 3 ลำ ขณะเดียวกันยังมีการออกแบบงานระบบต่างๆ อาทิ ระบบเครื่องช่วยการเดินอากาศ และระบบระบายน้ำ ตลอดจนมีการปรับปรุงลานจอดรถยนต์ ถนนเข้า-ออก และรั้วสนามบิน เป็นต้น

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 65 จากนั้นที่ปรึกษาจะเสนอให้ ทย. พิจารณา ก่อนที่จะเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป อย่างไรก็ตามแม้ว่าขณะนี้ท่าอากาศยานเบตงจะยังไม่ได้เปิดให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ แต่ก็ต้องดำเนินการเตรียมแผนจัดทำโครงการไว้ก่อนล่วงหน้า เพื่อรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะการจะสร้าง หรือพัฒนาสิ่งต่างๆ ต้องใช้เวลาในการศึกษา และดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ กว่าจะสามารถสร้าง หรือพัฒนาได้ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า หลายคนอาจตั้งคำถามว่า เหตุใดเมื่อครั้งสร้างสนามบินเบตง จึงไม่สร้างรันเวย์ให้ยาว 2,500 เมตรไปในคราวเดียว เพื่อรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ได้ และไม่ต้องมาขยายเพิ่มเติมอีก เรื่องนี้ต้องชี้แจงว่าการออกแบบรันเวย์ขึ้นอยู่กับความจำเป็น ซึ่งการศึกษาในขณะนั้นเมื่อปี 50 ก็พบว่า จะมีปริมาณผู้โดยสาร และเที่ยวบินในขนาดรันเวย์ที่ 1,800 เมตร รองรับได้อย่างเพียงพอ แต่เมื่อเวลาผ่านไปการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร และเที่ยวบินก็เปลี่ยนไป จึงทำให้ต้องมีการขยายเพิ่มในคราวหลัง.