สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมินสก์ ประเทศเบลารุส เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ว่า สำนักงานควบคุมพรมแดนของเบลารุสรายงานการรื้อถอนค่ายผู้อพยพขนาดใหญ่ที่สุด ที่เมืองกรอดโน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ซึ่งอยู่ติดกับภาคตะวันออกของโปแลนด์ แล้วส่งผู้อพยพชาวอิรักประมาณ 430 คน เดินทางกลับทางเครื่องบิน


แม้สถานการณ์ดังกล่าวช่วยผ่อนคลายบรรยากาศตึงเครียดตามแนวชายแดนระหว่างทั้งสองประเทศ ที่อึมครึมตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาได้บ้าง แต่คณะกรรมาธิการยุโรป ( อีซี ) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป ( อียู ) ยืนกรานปฏิเสธข้อเสนอของประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ผู้นำเบลารุส ผ่านนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนี ในการขอให้สมาชิกอียู 27 ประเทศ ร่วมกันรับผู้อพยพที่ยังคงตกค้าง รวมกันสูงสุด 2,000 คน และรัฐบาลมินสก์จะผลักดันผู้อพยพกลับภูมิลำเนาเดิม เพิ่มอีก 5,000 คน

สภาพของค่ายผู้อพยพซึ่งถูกทิ้งร้าง ตามแนวชายแดน ระหว่างเบลารุสกับโปแลนด์


ขณะที่นายฮอร์สต์ เซโฮเฟอร์ รมว.งมหาดไทยของเยอรมนี กล่าวถึงข้อเสนอของเบลารุส ว่า รัฐบาลเบอร์ลินยังไม่ได้ตอบรับในประเด็นใด และมองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น “เป็นปัญหาของทั้งยุโรป” ด้านประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส เรียกร้องยุโรปร่วมมือกันเพิ่มแรงกดดันต่อลูคาเชนโก ส่วนผุ้อพยพที่ “ไม่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ขอรับสถานะผู้ลี้ภัย” ควรมีการผลักดันกลับ

ผู้อพยพซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอิรัก รวมตัวกันภายในโกดังแห่งหนึ่ง ไม่ห่างจากเขตแดนเบลารุส-โปแลนด์ เพื่อเตรียมเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม


ทั้งนี้ อียูยกระดับมาตรการคว่ำบาตรต่อลูคาเชนโก และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเบลารุสอีกหลายคน ที่เจตนาสร้างสถานการณ์ตึงเครียดตามแนวชายแดนติดกับโปแลนด์ ซึ่งถือเป็น “พรมแดนตะวันออกสุด” ของทวีปยุโรป ที่ยืดเยื้อมานานหลายเดือน และมีผู้อพยพเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 11 ราย โดยอียูมองว่า “เป็นการเอาคืน” ต่อกรณีอียูคว่ำบาตรลูคาเชนโกครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว จากความขัดแย้งเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีของเบลารุส ซึ่งลูคาเชนโกชนะเป็นสมัยที่ 6 ติดต่อกัน แต่หลายประเทศไม่ยอมรับ และประณามว่า “มีการทุจริตเป็นวงกว้าง”.

เครดิตภาพ : AP