เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พร้อม พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. และ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมแถลงผลการจับกุมคดีสำคัญ 2 คดี

คดีแรกผู้ต้องหา 2 ราย โดยเป็นเจ้าของโกดังลักลอบนำเข้าเครื่องสำอางรายใหญ่ ย่านดอนเมืองและภาษีเจริญ พร้อมของกลางผลิตภัณฑ์กว่า 300 รายการ อาทิ ลิปสติก น้ำหอม ครีมทาผิว กว่า 100,000 ชิ้น รวมมูลค่า 3 ล้านบาท สืบเนื่องจาก อย. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่งซึ่งได้สั่งซื้อเครื่องสำอางจากเพจเฟซบุ๊ก “ขายส่งเครื่องสำอาง ครีมบำรุงหน้าและครีมบำรุงผิว ลิปสติก น้ำหอมราคาถูกๆ” เมื่อได้รับสินค้าพบว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้รับไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลขที่ใบรับจดแจ้ง คาดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลักลอบนำเข้ามา จึงได้ประสานมายัง กก.4 บก.ปคบ. สืบสวนหากระบวนการลักลอบนำเข้าเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย

กระทั่งวันที่ 3 ธ.ค. ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. นำหมายค้นของศาลแขวงดอนเมืองและศาลแขวงภาษีเจริญ เข้าตรวจค้นอาคารพาณิชย์ 2 แห่งย่านเขตดอนเมืองและเขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ พบเป็นโกดังเก็บเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งต้องสงสัยว่าอาจผิดกฎหมาย จึงตรวจยึดและอายัดผลิตภัณฑ์ของกลางทั้งหมด พร้อมจับกุมผู้ต้องหา 2 ราย เป็นเจ้าของโกดังทั้ง 2 แห่ง จากการสอบสวนให้การรับสารภาพทำมาประมาณ 2 ปี นำเข้าเครื่องสำอางมาจากประเทศจีน ขนส่งมาทางเรือ จำนวนครั้งละมากๆ ก่อนมาพักไว้ที่โกดังภาษีเจริญ จากนั้นส่งสินค้าไปยังตามตลาดสำเพ็งและดอนเมือง ก่อนกระจายไปตลาดทั่วประเทศ

เบื้องต้นแจ้งข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ฐานนำเข้าเครื่องสำอางโดยไม่จดแจ้ง และฐานขายเครื่องสำอางปลอมและแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ฐานขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อีกคดีเป็นผลการจับกุมของ กก.2 บก.ปคบ. นำโดย พ.ต.อ.อภิชาติ เรนชนะ ผกก.2 บก.ปคบ. ตรวจค้นทลายเครือข่ายวัตถุอันตรายปลอม หลังได้รับแจ้งจากสายว่า มีกลุ่มผู้กระทำผิดลักลอบผลิตวัตถุอันตรายทางการเกษตรเป็นสารกำจัดวัชพืช โดยไม่ได้รับอนุญาตและเสนอขายผ่านช่องทางออนไลน์ จึงได้ติดต่อล่อซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จากการตรวจสอบพบว่าเป็นผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายปลอม ซึ่งได้รับการยืนยันจากบริษัทผู้เสียหาย รวมทั้งสืบสวนขยายผล จนทราบว่า นายศุภฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) ลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายจำกัดการใช้สารกำจัดวัชพืช (ไกลโฟเซต) ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายปลอม โดยจากการสืบสวน นายศุภฤทธิ์ มีร้านในเครือข่ายที่ได้นำสินค้าวัตถุอันตรายปลอมมาจำหน่ายให้แก่เกษตรกรทั่วไป 6 ร้าน ซึ่งกระจายไปตามจังหวัดต่างๆในภาคอีสาน 6 จังหวัด

ผลการตรวจคันพบ ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายจำกัดการใช้สารกำจัดวัชพืช (ไกลโฟเซต) ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายปลอม 3,000 แกลลอน มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท และวัตถุอันตรายอื่นๆ อีกหลายรายการ เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ฐานผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ปลอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ