อุณหภูมิการเมืองกลับมาร้อนแรงอีกครั้งภายหลังในวงประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดล่าสุดที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณเด็ดขาดให้ใช้กฎหมายดำเนินการกับม็อบทุกกลุ่มที่บุกล้อมประชิดกำแพงทำเนียบรัฐบาล

พล.อ.ประยุทธ์ ให้เหตุผล หากเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย สถานการณ์ชุมนุม อาจขยายวงกว้างออกไป และยืนยันรัฐบาลไม่ได้ห้ามชุมนุม แต่การชุมนุมต้องเป็นไปตามกฎหมาย!

จับอาการรู้เลย เบื้องหลังคำสั่งใช้กฎหมายทุกฉบับจัดการม็อบที่พยายามบุกล้อมศูนย์กลางอำนาจบริหารประเทศครั้งนี้

สะท้อนให้เห็นภาพรายงานข่าวกรอง สารพัดม็อบ เตรียมผสมโรงชุมนุมกดดันรัฐบาล จากสารพัดปัญหาหมักหมมตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ประเดิมที่คิวล่าสุด ม็อบจะนะรักษ์ถิ่น ระดมพลชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลช่วงเย็นวันที่ 6 ธ.ค. เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ 3 ตำบลคือ นาทับ ตลิ่งชัน สะกอม ก่อนตำรวจระดมกำลังเข้าสลายการชุมนุมในคืนวันเดียวกัน

เหตุการณ์ครั้งนี้ ตำรวจจับผู้ต้องหาทั้งหมด 37 คน แจ้งข้อหาฝ่าฝืน ประกาศที่ออกตามอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีโทษตาม มาตรา 18 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่ภาคีเครือข่ายม็อบจะนะรักษ์ถิ่น อ่านแถลงการณ์ประณามและประกาศระดมพลจากพื้นที่ภาคใต้เข้ามาเสริมในพื้นที่กรุงเทพฯ!

ปัญหาเครือข่ายม็อบจะนะรักษ์ถิ่น มีจุดตั้งต้นช่วงปี 2562 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้อนุมัติเดินหน้า “โครงการเมืองต้นแบบ แห่งที่ 4” โดยเลือกพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ตั้งเป้าสร้างให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ ครอบคลุมพื้นที่ 16,753 ไร่

ขณะที่ทางฝั่งชาวบ้านตั้ง “กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น” คัดค้านโครงการเมืองต้นแบบ เนื่องจากมองว่ากระทบวิถีชีวิตชาวประมง, กระทบสิ่งแวดล้อม และกระทบสุขภาพ

ตลอดปี 2563 “กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น” เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและไปปักหลักชุมนุมที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ถนนพิษณุโลก ใกล้ทำเนียบรัฐบาล ทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจ ส่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ในขณะนั้น พร้อมคณะเข้าเจรจา นำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างตัวแทนรัฐบาลและม็อบ 3 ประเด็น

(1) ประเด็นแรก เสนอให้ยกเลิกมติ ครม.ที่เกี่ยวกับการดำเนินการโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ทุกฉบับ

(2) ประเด็นที่สองยกเลิกกระบวนการแก้ไขผังเมืองรวม จ.สงขลา พ.ศ. 2559

(3) ประเด็นที่สาม ให้เริ่มนับหนึ่งประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) จังหวัดสงขลา โดยแต่งตั้งคณะทำงานที่มีสัดส่วนของภาคประชาชนและนักวิชาการเข้าร่วม

จากนั้นวันที่ 15 ธ.ค.2563 ที่ประชุม ครม.รับทราบผลการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น

ต่อมาวันที่ 28 ม.ค.2564 นายกรัฐมนตรีเซ็นตั้ง ร.อ.ธรรมนัส เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ

ทว่าตลอดช่วง 1 ปีหลังจากเซ็นเอ็มโอยู กลับไม่มีผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ในทางตรงข้ามมีความพยายามเดินหน้าเปลี่ยนผังเมืองในพื้นที่ 3 ตำบล จากเดิม “สีเขียว” พื้นที่เกษตรกรรม ให้เป็น “สีม่วง” พื้นที่อุตสาหกรรม

นอกจากนี้พบคนใกล้ชิดรัฐมนตรีกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านไปขายให้นายทุนเพื่อรองรับการเดินหน้าสร้างนิคมอุตสาหกรรมในอนาคต!

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ม็อบจะนะ มีแนวโน้มบานปลายไปผสมโรงกับสารพัดม็อบ เกิดขึ้นภายหลังการประชุม ครม. นัดล่าสุดที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ออกมายืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำเอ็มโอยู ฉบับ ร.อ.ธรรมนัส เพราะเป็นการลงนามที่ไม่ผ่าน ครม.

“ใครตกลง แล้วผมเคยตกลงหรือยัง และ ครม. ยังไม่เคยตกลง ในส่วนนี้ผมจะให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และศอ.บต. การไปพบปะไปเจรจาของใครก็แล้วแต่ การไปตกลงอย่าลืมว่าไม่ได้ผ่าน ครม.” พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำถึงการไม่ยอมรับเอ็มโอยูฉบับ ร.อ.ธรรมนัส

“ม็อบจะนะ” เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสารพัดม็อบที่พร้อมผสมโรงเขย่ารัฐบาลกลายเป็นปัญหาไฟลามทุ่งในช่วงส่งท้ายปี!