เริ่มด้วยการเมืองในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่สัมผัสได้ถึงดราม่าการเมืองหลายๆเรื่อง โดย “พระเอก” ในเรื่องดราม่าที่เกิดขึ้น หนีไม่พ้น “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม

ไล่มาตั้งแต่ดราม่า “จะนะรักษ์ถิ่นเอฟเฟกต์” ที่ถึงแม้ล่าสุด ครม.จะยอมถอย โดยมีมติให้หน่วยงานรัฐชะลอการดำเนิน โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ไปก่อนระหว่างประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) จนกว่าการประเมินจะแล้วเสร็จ แม้ทางออกจะเป็นไปในทิศทางที่หลายฝ่ายอยากเห็น แต่จากดราม่าที่เกิดขึ้นลดทอนความเชื่อมั่นของ “รัฐบาลบิ๊กตู่” ลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนั้นยังต้องมา “เสียรังวัด” จากเรื่องดราม่าลดโทษ-ขอพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องขังคดีทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะคดีจำนำข้าว ที่ทำให้หลายภาคส่วนในสังคมออกมาส่งเสียงคัดค้าน จนทำเอา “บิ๊กตู่” ต้องออกแอ๊คชั่นสยบดราม่า ด้วยการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบกระบวนการจัดชั้นนักโทษโดยเฉพาะคดีทุจริต ขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบในกระบวนการ และการจัดชั้นนักโทษ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การลดโทษคดีทุจริต ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าเรื่องนี้จะมีบทสรุปอย่างไร

และล่าสุดเกิดดราม่า “โชว์จับปู-คุยกับปู” ของ “บิ๊กตู่” จากการลงพื้นที่ ศูนย์เรียนรู้การเพาะเลี้ยงปูทะเล บ้านโต๊ะโสม ต.บางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะกลายเป็นการเรียกกระแสร้อนตามมาอย่างแน่นอน ปิดท้ายด้วย ดราม่า “สภาล่มซ้ำซาก” ซึ่งแทบจะเกิดขึ้นรายสัปดาห์ โดยที่วิปรัฐบาลยังคงแก้ปัญหาไม่ตก

นอกจากดราม่าการเมืองภาพใหญ่แล้ว ในดราม่าการเมืองในสนาม กทม. ที่ “บิ๊กตู่” ออกมาประกาศปักหมุดเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. กลางปี 2565 หลังจากถูกแช่แข็งทางการเมืองมาเกือบ 5 ปี โดยล่าสุดมีการตั้งโจทย์ นำเอา ส.ข.ที่ถูกยกเลิกในช่วง คสช. กลับมาใหม่ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยอ้างว่าพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคได้ยื่นเรื่องแสดงเจตนารมณ์ต้องการให้นำ ส.ข.กลับมาเหมือนเดิม ซึ่งจะต้องมีการยกร่างกฎหมายให้สภาพิจารณา ก่อนจะเปิดสังเวียนเลือกตั้งกทม.

ซึ่งงานนี้เข้าทางรัฐบาลในการยื้อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ออกไปสุดซอย เพราะการเลือกตั้งในช่วงเวลาอันใกล้นี้ ไม่มีผลดีต่อบัลลังก์อำนาจของพรรคพลังประชารัฐ และผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ยังจะเป็นเหมือนตัวชี้วัคคะแนนนิยม ที่จะส่งผลต่อการเลือกตั้งในสนามใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกันก็จะเริ่มเห็นถึงความเคลื่อวไหวของ “ว่าที่ผู้สมัครฯ” ที่เริ่มเปิดตัวปูทางสู่การเลือกตั้งกันแล้ว โดยพรรคที่ออกตัวแรงที่สุดคือ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ชิงเปิดตัว “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อย่างอลังการงานสร้าง พร้อมชูนโยบายการแก้ปัญหาเมืองกรุง เพื่อเปลี่ยนกรุงเทพฯ เทียบเท่ากรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งงานนี้ก็กลับพลาดท่าสะดุดเท้าตัวเอง จนทำให้ถูกมองเป็น “คนคุยโว” ด้วยการอ้างว่าเคยเรียนกับหลานแท้ ๆ ของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ชื่อก้องโลกผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพันธภาพ พร้อมยังยกตัวเองเป็น “ทายาทสายตรงไอสไตน์คนเดียวในแผ่นดินไทย”

แต่สุดท้ายกลับ “โป๊ะแตก” เพราะคนที่อ้างถึงไม่ได้เป็นญาติของนักฟิสิกส์ชื่อดังแต่อย่างใด แม้สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นความบกพร่องโดยสุจริตใจ แต่ก็ทำเอาความเชื่อมั่นของว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.จากค่ายประชาธิปัตย์รายนี้ถูกฉุดลงตั้งแต่ยังไม่ลงแข่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะวัดผลของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็ยังต้องรอดูการขับเคี่ยวด้านนโยบายของผู้สมัครแต่ละคน ที่จะเป็นจุดชี้ขาดในการตัดสินใจของคนกทม.

บริบทการเมืองในสนามกทม.ในตอนนี้คู่ชกหลักๆ คงจะหนีไม่พ้น “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีต รมว.คมนาคม และ ที่ประกาศตัวลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งจะต้องขับเคี่ยวกับ “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ จนยกให้เป็น “มวยคู่เอก” ของสังเวียนเลยก็ว่าได้ แต่งานนี้ก็ยังคงต้องรอดูม้ามืดจากพรรคก้าวไกลที่กำลังซุ่มรอเปิดตัวหลังจากนี้ และยังอาจจะมีม้ามืดผู้สมัครอิสระที่อาจจะมีการทยอยเปิดตัวกันหลังจากนี้

ส่วนผู้สมัครฯของพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังคงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า หลังจาก “ผู้ว่าฯ หมูป่า” ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯปทุมธานีออกมาปฏิเสธที่จะลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่ “บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ก็ดูจะแบ่งใจไปทางการลงสมัครในนามอิสระมากกว่า เพราะชั่งน้ำหนักแล้วการลงสมัครโดยติดแบรนด์พรรคพลังประชารัฐ ท่ามกลางวิกฤติศรัทธาของรัฐบาล อาจทำให้คะแนนดิ่งเหวลงไปด้วย

 ดังนั้นการเฟ้นหาตัวผู้สมัครฯของพรรคพลังประชารัฐหลังจากนี้ อาจจะกลายเป็นประเด็นร้อนอีกระรอก บนรอยร้าวของพรรคพลังประชารัฐที่ถูกแบ่งเป็น 2 ขั้ว ระหว่าง “ป.ประยุทธ์-ป.แป้ง” ที่ต่างฝ่ายต่างชิงความได้เปรียบภายในพรรค ภายใต้การบริหารงานแบบ “2 ขั้ว 2 ข้าง” ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรค ซึ่งงานนี้ก็ต้องรอดูว่าในที่สุดพรรคพลังประชารัฐจะมีบทสรุปในการส่งผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครังนี้อย่างไร

ซึ่งในช่วงนี้คงจะได้เห็น “สงครามโซเชียล” ที่จะมีการออกมาฟาดกันหนักหน่วง หลังจากมีการเปิดหน้าค่าตาผู้สมัครฯ หลายๆคน สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ คงจะต้องตั้งสติในการเสพข่าวทางโซเชียลมีเดีย เพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม. ที่จะตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง

ส่วนความเคลื่อนไหวการเตรียมตัวเลือกตั้ง ส.ส. เริ่มมีพรรคขยับเกมรุกแล้ว โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่กำลังเดินเกมรุกหนักในพื้นที่ภาคใต้ โดย “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค นำทีมเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พัทลุง-สตูล ในนามของพรรคพลังประชารัฐ โดยเปิดตัวทายาทการเมืองตระกูลดังอย่าง นิติศักดิ์ ธรรมเพชร ในพื้นที่ พัทลุง เขต 2นอกจากนั้นยังมีข่าวการดึงตัวนักการเมืองในตระกูลธรรมเพชรจากพรรคร่วมรัฐบาล เข้าร่วมสังกัดชายคาพรรคพลังประชารัฐ ในพื้นที่พัทลุง เขต 1 อีกด้วย

นอกจากนั้นในสนามเลือกตั้งซ่อม ส.ส. “ชุมพร-สงขลา” ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วนี้ พรรคพลังประชารัฐเองก็ยังมีความเคลื่อนไหว จนอาจจะกลายเป็นชนวนเหตุรอยร้าวพรรคร่วมรัฐบาลระรอกใหม่ เพราะงานนี้เจ้าของพื้นที่เดิมอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ออกอาการไม่แฮปปี้อย่างแรก จนต้องออกมาดักคอเตือนเรื่องมารยาททางการเมือง ว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่ควรส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมแข่งกันเอง ดังนั้นคงจะต้องรอดูว่าในการประชุมพรรคพลังประชารัฐในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ ซึ่งจะมีการฟันธงเคาะข้อสรุปการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อมหรือไม่นั้น พรรคพลังประชารัฐจะเลือกแตกหักพรรคร่วมหรือรักษามารยาททางการเมือง

ขณะที่อีกฝั่งอย่างพรรคเพื่อไทย ที่ก่อนหน้านี้ออกมาประกาศตั้งเป้าสร้างปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ โดยหวังกวาดที่นั่ง ส.ส. 253 เก้าอี้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อใช้ต่อกรกับเสียงของ 250 ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ เข้าวินเป็นรัฐบาล จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ “เลือดเก่าไหลกลับ” อดีตนักการเมืองคนดังหลายรายที่ลาออกจากพรรคไปก่อนหน้านี้ กลับเข้ามาอยู่ใต้ชายคาพรรคเพื่อไทยกันอีกครั้ง

แต่ภายใต้ฉากหน้าการต้องรับเลือกเก่าอย่างอบอุ่น ดูเหมือนจะมีคนไม่แฮปปี้ โดยเฉพาะก็ทำให้เลือดเก่าที่อยู่ในพรรคมาโดยตลอด ที่เกิดอาการระแคะระคายเกมแย่งกันเป็นใหญ่ภายในพรรค ทำเอา วัน อยู่บำรุง ส.ส.กทม. ออกมาไล่ “พวกที่เหิมเกริมออกจากบ้านแต่ไปไม่รอด” ให้ไปต่อท้ายแถว ซึ่งดูแล้วงานนี้สถานการณ์ภายในพรรคเพื่อไทยหลังจากนี้ อาจเกิดเกมการเมืองที่ร้อนแรงไม่แพ้สถานการณ์ของพรรคพลังประชารัฐ

ท่ามกลางดราม่าการเมืองที่คุกรุ่นโหมกระพือกันแบบข้ามปีเช่นนี้ ก็คงเป็นสัญญาณบอกใบ้ถึงสถานการณ์การเมืองในปี 2565 ได้เป็นอย่างดีว่าจะร้อนแรงสักแค่ไหน!

ปรับโฟกัสจากเรื่องดราม่าการเมือง ในขณะนี้หลายๆคนคงจดจ่ออยู่กับการเดินทางกลับบ้านช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่กำลังจะมาถึงในเร็วๆ นี้ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการดูแลตัวเองตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เพราะเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนไม่ธรรมดา โดยในเรื่องนี้ ศบค. ก็ได้ออกมาส่งสัญญาณเตือนว่า หลังปีใหม่อาจจะเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ขึ้นได้ ขณะเดียวกันกลุ่มแรงงานเถื่อน ยังมีการไหลทะลักเข้าเขตชายแดนกันอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นในช่วงเวลาปีใหม่ที่จะถึงนี้ คนไทยจึงต้องกลับมาตั้งการ์ดให้สูงกันอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นการป้องกันตัวเองจากโควิด-19 ได้อย่างดีที่สุด.