เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แถลงสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 1 ม.ค. 2565 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” พบว่า เกิดอุบัติเหตุ 574 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 73 ราย ผู้บาดเจ็บ 574 คน สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 4 วันของการรณรงค์ (29-1 ม.ค. 65) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,906 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 226 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 1,894 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด กาญจนบุรี 24 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด กรุงเทพมหานคร 6 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด กาญจนบุรี 31 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในวันแรกของการรณรงค์ 35 จังหวัด

นายบุญธรรม กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ 213 ครั้ง ร้อยละ 37.28 ขับรถเร็ว 203 ครั้ง ร้อยละ 35.71 และตัดหน้ากระชั้นชิด 74 ครั้ง ร้อยละ 27.01 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 510 คัน ร้อยละ 86.62 รถปิกอัพ 23 คัน ร้อยละ 5.80 รถเก๋ง 18 คัน ร้อยละ 3.71 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 81 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.80 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 03.01-06.00 น. ร้อยละ 25.96 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 17 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,890 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 42,189 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 419,239 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 85,196 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 24,279 ราย ไม่มีใบขับขี่ 21,815 ราย 

นายบุญธรรม กล่าวด้วยว่า เมื่อเปรียบเทียบอุบัติเหตุ 4 วันกับช่วงปีใหม่ในปีที่ผ่านมา พบว่า เกิดอุบัติเหตุรวม 2,360 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 2,340 ราย และผู้เสียชีวิต 284 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจากปีที่แล้วราวๆ ร้อยละ 19-20 ทั้งจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บ และจำนวนเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม คาดว่าวันนี้จะมีประชาชนบางส่วนทยอยเดินทางกลับ ทำให้เส้นทางหลักกลับเข้าสู่กทม.และจังหวัดใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ มีปริมาณรถเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริเวณจุดเสี่ยงอุบัติเหตุเส้นทางตรงที่มีระยะทางยาวที่มักเกิดอุบัติเหตุจากการหลับใน ขอฝากให้ผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็ว หากขับรถระยะทางไกลให้หยุดพักรถทุก 1-2 ชั่วโมง ไม่ฝืนขับรถเมื่อมีอาการง่วงนอน เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย.