ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณีมีกระแสข่าวว่า พรรคเศรษฐกิจไทย คือพรรคใหม่ที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พร้อม ส.ส.ในสังกัดรวม 21 คน ย้ายไปสังกัด หลังที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร และ ส.ส.พรรคประชารัฐ มีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พร้อม ส.ส.ในสังกัดออกจากสมาชิกพรรค ข้อหาสร้างความแตกแยกภายในพรรค โดยปรากฏชื่อ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หรือ “บิ๊กน้อย” อดีตประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ เป็นหัวหน้าพรรค และมีชื่อนายอภิชัย เตชะอุบล เป็นเลขาธิการพรรคนั้น

จากการตรวจสอบข้อมูลพรรคการเมืองพบว่า ชื่อของ พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ได้รับการจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองลำดับที่ 73 เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 โดยมีคณะกรรมการบริหารพรรครวมทั้งสิ้น18 คน โดย มีนายประสงค์ วรารัตนกุล เป็นหัวหน้าพรรค นายเมธาวี เนตรไสว เป็นเลขาธิการพรรค

โดยเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2564 ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง แจ้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคเศรษฐกิจไทย โดยเหลือกรรมการบริหารพรรค 14 คน ประกอบด้วย นายประสงค์ วรารัตนกุล เป็นหัวหน้าพรรค นางรัชนี ศิวเวชช รองหัวหน้าพรรค นายเมธาวี เนตรไสว เป็นเลขาธิการพรรค น.ส.ปุณิกา เศรษฐกุลดี รองเลขาธิการพรรค นายอนันต์ มั่งเกียรติสกุล นายทะเบียนสมาชิกพรรค ว่าที่ร้อยตรีหญิง นภารัตน์ นุชนิยม ผู้ช่วยนายทะเบียนสมาชิกพรรค น.ส.บุษบา ถนิมลักษณ์ เหรัญญิกพรรค น.ส.น้ำฝน ดอกบัว ผู้ช่วยเหรัญญิกพรรค นายธรรศ สุวัชรนนท์ โฆษกพรรค นายสิริพงษ์ เอี่ยมเกษมสิน รองโฆษกพรรค นายจเด็จ วันทะนะ กรรมการบริหารพรรค ว่าที่ร้อยตรีหญิง สุวรพร ไทยงาม กรรมการบริหารพรรค นายพลธร ไทยสวัสดิ์ กรรมการบริหารพรรค และนางวนิดา ศรีวรมย์ กรรมการบริหารพรรค

ทั้งนี้จากข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2564 ปรากฏชื่อนางรัชนี ศิวเวชช รองหัวหน้าพรรค ปฏิบัติหน้าที่แทนหัวหน้าพรรค และนายเมธาวี เนตรไสว เป็นเลขาธิการพรรค โดยมีกรรมการบริหารพรรค 13 คน มีสมาชิกพรรค 8,736 ราย มีสาขาพรรค 5 แห่ง และ 1 ตัวแทนพรรค โดยที่ตั้งพรรคอยู่ในซอบมหาดเล็กหลวง 3 ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม. โดยจากการตรวจสอบล่าสุดยังไม่มีชื่อของ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หรือนายอภิชัย เตชะอุบล ในรายชื่อพรรมการบริหารพรรคดังกล่าวแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวจากสำนักงาน กกต.ตั้งข้อสังเกตในกรณีที่พรรคเศรษฐกิจไทย ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อกรรมการบริหารพรรคนั้น ทางพรรคอาจมีการประชุมเปลี่ยนแปลงรายชื่อกรรมการบริหารพรรคไปแล้ว ตามระเบียบของพรรค แต่ยังไม่ได้แจ้งมายังสำนักงาน กกต. แต่หากในกรณีมีการประชุมเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคเกิดขึ้น และเป็นไปตามกฎหมาย เป็นไปตามข้อบังคับพรรค ก็จะถือได้ว่าการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรค จะมีผลตั้งแต่วันที่ที่ประชุมพรรคมีมติ.