เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีดีเอสไอ ร่วมแถลงผลการจับกุมผู้ค้าซิมมือถือรายใหญ่ 2 รายในพื้นที่กรุงเทพฯ และเชียงราย ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์กว่า 100,000 ซิม โดยพบพฤติการณ์จำหน่ายและรับลงทะเบียนเปิดใช้บริการไม่ถูกต้อง

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ดีเอสไอได้ทำการล่อซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ 2 ร้านในพื้นที่กรุงเทพฯ และในอ.ขุนตาล จ.เชียงราย ซึ่งประกาศขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยพฤติการณ์ของร้านที่คันนายาวจะจำหน่ายซิมและรับลงทะเบียนเปิดใช้บริการ ส่วนร้านที่เชียงรายจะจัดหาซิมมาจำหน่าย และเปิดใช้บริการให้ตามออเดอร์ที่ได้รับจองเบื้องต้นยังไม่พบว่าทั้งสองร้านมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้ดีเอสไอขยายผลการสืบสวน และได้นัดผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ 3 ค่าย คือ ทรู ดีแทค และเอไอเอส รวมทั้ง กสทช. มาประชุมกับดีเอสไอเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

“ที่ผ่านมาพบว่า แก๊งคอลเซ็นต์เตอร์ กลุ่มพนันออนไลน์ กลุ่มแอพพลิชั่นปล่อยเงินกู้ ได้มีการนำซิมมือถือไปใช้ในการหลอกลวงประชาชน สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ บางส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินในขบวนการค้ายาเสพติด รวมทั้งขบวนการก่อการร้าย ซึ่งนำซิมมือไปใช้ก่อเหตุร้าย ทั้งนี้ขอเตือนประชาชนให้ระวังการนำหมายเลขบัตรประชาชนไปลงทะเบียนซิมการ์ด และอย่ารับจ้างเปิดหมายเลขและบัญชีธนาคารเด็ดขาดเพราะท่านอาจจะกลายเป็นผู้ต้องหาโดยไม่รู้ตัว” นายสมศักดิ์ กล่าว

ขณะที่นายไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบร้านค้าทั้งสองแห่ง จุดแรกในเขตคันนายาว กรุงเทพฯ พบของกลางเป็นซิมที่ลงทะเบียนแล้วและที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนรวมกันกว่าหนึ่งแสนหมายเลข โดยพบว่าเป็นซิมที่ใช้บัตรประชาชนชาวเมียนมาและกัมพูชาลงทะเบียน จำนวน 8,500 หมายเลข และลงทะเบียนโดยบัตรประชาชนของเจ้าของร้านคนไทยอีก 1,500 หมายเลข รวมยึดเพื่อตรวจสอบทั้งสิ้น จำนวน 10,000 หมายเลข และได้ยึดคอมพิวเตอร์ เครื่องโทรศัพท์ดัดแปลงสำหรับใช้ลงทะเบียน 9 เครื่อง ส่วนจุดที่ 2 ที่อ.ขุนตาล จ.เชียงราย เป็นร้านขายโทรศัพท์และอุปกรณ์ ร้านดังกล่าวจะไม่มีการเก็บซิมสำรอง หากลูกค้าต้องการเมื่อใดต้องสั่งจองล่วงหน้า ผลการตรวจค้นพบภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนต่างด้าวจำนวนมาก

“เราพบไฟล์สั่งซื้อซิมโทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียนแล้วจำนวนมาก ส่วนรายชื่อผู้ที่ลงทะเบียนในซิมการ์ดดีเอสไอกำลังขยายผลสืบสวนว่า มีการขโมยข้อมูลบัตรประชาชน หรือเอกสารคนต่างด้าวมาลงทะเบียนหรือไม่ หรือมีส่วนรู้เห็นรับจ้างเปิดซิม เนื่องจากการลงทะเบียนซื้อซิมการ์ดจะต้องนำบัตรประชาชนไปยืนยันตัวตนที่จุดบริการ โดย 1 คนสามารถซื้อได้มากกว่า 1 ซิม แต่หากมีการเปิดใช้บริการมากกว่า 10 ซิม น่าจะมีความผิดปกติ อย่างไรก็ตามหลังจากพนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทั้งหมดแล้ว ดีเอสไอจะรับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ” อธิบดีดีเอสไอ กล่าวและว่า ฝากเตือนผู้ประกาศขายซิม ผู้ลงทะเบียน และผู้ใช้อาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) และ(2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม จำหน่ายหรือมีไว้ครอบครอง ใช้หรือมีไว้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม มาตรา 269/1 และมาตรา 269/4 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 7 ปี ปรับ 20,000 – 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ