ผลนับคะแนนสมรภูมิเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 9 หลักสี่-จตุจักร ที่ พรรคเพื่อไทย ชนะขาดเกือบ 30,000 แต้ม, พรรคก้าวไกล เข้าที่สอง, พรรคกล้า ตามติดที่สาม ส่วนพรรคพลังประชารัฐ แพ้หลุดลุ่ยขาดลอยได้ไม่ถึง 8,000 แต้ม

นับเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นทิศทางการเมืองภาพใหญ่ในอนาคตซึ่งเป็นไปตามหลักพุทธศาสนสุภาษิต “กัมมุนา วัตตติ โลโก” สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

บุคคลย่อมต้องประสบสิ่งที่ดีงามหรือประสบผลร้ายตามกรรมของตน!

“ชัยชนะ” และ “ความปราชัย”ในศึกเลือกตั้งครั้งนี้พอจะสะท้อนให้เห็นทิศทางการเมืองในสนามเมืองหลวง หลายมิติ

(1) มิติแรกพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ที่ตีตั๋วลงแข่งรักษาพื้นที่หลักสี่-จตุจักร พรรคเดียว ประเด็นที่น่าสนใจคือ พรรคพลังประชารัฐ ใช้นโยบายหาเสียง ‘รักลุงตู่ เลือกเบอร์ 7’ แต่ทว่าผลลัพธ์ที่ได้ กลับตรงข้ามจากการเลือกตั้งปี 2562

เนื่องด้วยพรรคพลังประชารัฐ ต้องประสบความปราชัยอย่างย่อยยับ มากที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งพรรค ได้คะแนน 7,906 แต้ม

ขณะที่ พรรคเพื่อไทย ได้ 29,416 แต้ม ทิ้งห่างพรรคพลังประชารัฐเกือบ 4 เท่าตัว

สะท้อนให้เห็นภาพ คะแนนนิยมพรรคพลังประชารัฐ และ “กลุ่ม 3 ป.” ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังอยู่ในช่วงดำดิ่งลงใต้ก้นทะเล ยืนยันจากผลเลือกตั้งซ่อมที่แพ้รูด 3 สนาม ชุมพร เขต 1, สงขลา เขต 6 และ กทม. เขต 9

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าว “กระแส” กับ “กระสุน” ภายใต้เงาของกลุ่มพี่น้อง 3 ป.เริ่มเสื่อมมนต์ขลัง ไม่มีอำนาจยิง ทะลุ ทะลวงทำลายล้างคู่ต่อสู้ในสนามการเมือง ได้เหมือนการเลือกตั้งปี 2562 หรือความพ่ายแพ้ครั้งนี้ คือการส่งสัญญาณถึงเวลานับถอยหลังของ พล.อ.ประยุทธ์

หากมองให้ลึกลงไปอีกชั้น ความปราชัยครั้งนี้ เป็นผลพวงมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ

ปัจจัยตัวแรก รอยร้าวภายในพรรคพลังประชารัฐ อันเนื่องมาจากกลุ่มก๊วนต่างๆพยายามสร้างแสนยานุภาพ ในกลุ่มของตัวเองเพื่อต่อรองผลประโยชน์การเมือง มีทั้งเปิดหน้าชกตรงๆ และทำสงครามตัวแทน (proxy war) เพื่อเตะสกัดขัดขาคนกันเองท้ายสุดความแยกแตกจากภายในคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ พปชร. เสื่อมอำนาจลง

โดยเฉพาะคิวล่าสุดที่พรรคพลังประชารัฐ ลงมติ อัปเปหิ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พร้อม ส.ส.ในสังกัดรวมทั้งหมด 21 ชีวิต ออกจากสมาชิกพรรค

ปัจจัยตัวที่สอง ผลงานการบริหารของกลุ่ม 3 ป. ตลอด 7 ปี ที่ไม่เข้าตากรรมการ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการบริหารโดยใช้ระบบรัฐราชการรวมศูนย์รวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ไม่ตอบสนองกับปัญหาวิกฤติประเทศ 

ดังนั้นผลเลือกตั้ง สนามเลือกตั้ง กทม. คือภาพสะท้อนคะแนนนิยมที่โยงไปถึงตัว พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐโดยตรง การพ่ายแพ้ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็น คะแนนนิยมมีปัญหา

(2) มิติพรรคฝ่ายค้านในกลุ่มพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล ที่นิยามตัวเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย มีประเด็นที่น่าสนใจคะแนน 2 พรรครวมกัน 49,777 แต้ม แบ่งเป็นพรรคเพื่อไทย 29,416 แต้ม และพรรคก้าวไกล 20,361 แต้ม

หากเทียบกับผลเลือกตั้งปี 2562 ทั้งสองพรรคคือเพื่อไทยและอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นแรกของก้าวไกล ได้คะแนนรวม 57,850 แต้ม แบ่งเป็นเพื่อไทย 32,115 แต้ม และอนาคตใหม่ 25,735 แต้ม

จุดแตกต่างที่มีนัยสำคัญคือการเลือกตั้งปี 2562 มีคนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 74.54% จากจำนวนผู้มีสิทธิ 171,250 คน เลือกพรรคเพื่อไทย 26.16%, เลือกพรรคอนาคตใหม่ 20.96%, เลือกพรรคพลังประชารัฐ 28.44%

ส่วนปี 2565 มีคนออกมาใช้สิทธิ 52.68% จากจำนวนผู้มีสิทธิ 167,287 คน เลือกพรรคเพื่อไทย 33.38%, เลือกพรรคก้าวไกล 23.10%, เลือกพรรคพลังประชารัฐ 8.9%

ตัวเลขข้างต้นสะท้อนให้เห็น ฐานเสียงที่สนับสนุนฝ่ายค้าน ในพื้นที่ กทม. เขต 9 ยังเหนียวแน่น และมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นมากกว่าปี 2562 อย่างมีนัยสำคัญ

ทำให้พรรคเพื่อไทย มั่นใจประกาศ เดินหน้ายุทธศาสตร์ ปักหมุดแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน เตรียมพร้อมสำหรับศึกเลือกตั้งใหญ่ในอนาคต

(3) ในมิติพรรคใหม่ โดยเฉพาะพรรคกล้า ที่ได้ 20,047 แต้ม สะท้อนให้เห็นพรรคเกิดใหม่มีโอกาสแจ้งเกิดในฐานะพรรคทางเลือก

ดังนั้น หากในศึกเลือกตั้งใหญ่ที่เปลี่ยนไปใช้กติกาใหม่ หากพรรคกล้าส่งผู้สมัคร ครบ 400 เขต มีโอกาสสูงที่จะได้โควตา ส.ส.บัญชีรายชื่อเข้าไปนั่งในสภา

ศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 9 หลักสี่-จตุจักร คือเวทีวัดเรตติ้งของพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อวางแผนการรบ เตรียมไพร่พล ช้าง ม้า วัว ควาย ทำศึกเลือกตั้งครั้งใหญ่ ก่อนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ครบวาระ หมดอายุขัยเดือน มี.ค.2566

ขุนไพร วิเคราะห์การเมือง