นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานว่า นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบและแสดงความห่วงใยต่อวิกฤติราคาพลังงาน ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติพลังงานที่ไม่สามารถจะประเมินได้ว่าจะยืดเยื้อไปนานแค่ไหน ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ศึกษาแนวทางช่วยเหลือไว้เป็นกรณีๆ หากราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 100-130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือถ้าอยู่ที่ 131-150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือ 150  ต้องทำอย่างไร โดยต้องรอความชัดเจนในการแถลงมาตรการรับมือวิกฤตราคาพลังงานที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมาชี้แจงพร้อมเพรียงกันอีกครั้งในวันที่ 11 มี.ค.นี้

ทั้งนี้ในช่วงที่ราคาพลังงานผันผวน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จึงส่งผลให้ไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงแอลเอ็นจีมีราคาสูงขึ้น ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การดำเนินการเกี่ยวกับราคาก๊าซธรรมชาติใหม่ ที่เดิมสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้ดูแล โดยเปิดโอกาสให้นำราคาของผู้นำเข้าหลักที่มีสัญญาระยะยาว อาทิ กลุ่ม ปตท. หรือ ชิปเปอร์รายใหม่ อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่สามารถนำเข้าก๊าซได้ราคาถูกมาคิดเฉลี่ยกับต้นทุนแอลเอ็นจีเดิม (พูล แก๊ส)

“มองว่าการนำเข้าจากกลุ่มดังกล่าวมีราคาถูกกว่าต้นทุนแอลเอ็นจีที่ กกพ. ใช้คำนวณค่าไฟฟ้าอยู่ เพราะปัจจุบันราคาน้ำมันที่นำมาผลิตไฟฟ้านั้นถูกกว่าก๊าซธรรมชาติ จึงเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้าสามารถใช้เชื้อเพลิงจากชิปเปอร์ที่นำเข้าได้ถูก ทั้งแอลเอ็นจี น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตามาผลิตไฟได้ ซึ่งจะสามารถช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า (เอฟที) ที่ส่งผลถึงผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง” นายกุลิศ กล่าว

สำหรับมาตรการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือ (แอลพีจี) 45 บาทต่อ 3 เดือนต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) ให้อยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กก. ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 65 กระทรวงพลังงานมีแผนปรับขึ้น 15 บาทต่อถัง 15 กก. มาอยู่ที่ 333 บาทต่อถัง 15 กก. เนื่องจากราคาจริง ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 435 บาทต่อถัง 15 กก. ซึ่งเป็นระดับที่สูงมากจนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สามารถแบกรับภาระได้ทั้งหมด และอยู่ระหว่างหาแนวทางช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอย่างเต็มที่

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่าปกติใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าแทนก๊าซธรรมชาติวันละ 10 ล้านลิตรต่อวัน คิดเป็น 300 ล้านลิตรต่อเดือน ซึ่งการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาที่ใช้ผลิตไฟฟ้าลงเหลือ 0% นาน 6 เดือน สิ้นสุด 15 ก.ย. 65 จะประหยัดเงินได้ 4 บาท คิดเป็นเงินประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท ทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลดลงได้ประมาณ 6 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งการลดหย่อนภาษีลงเหลือ 0% จะนำมาใช้คำนวณต้นทุนค่าไฟจะทันการพิจารณางวดเดือน พ.ค.-ส.ค.65 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกว่าจะสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับใด ถ้าราคาน้ำมันดิบขึ้นไปแตะ 300 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล การลดภาษีส่วนนี้ก็ไม่มีผลช่วยลดต้นทุนค่าไฟ