ภายหลังจากเดลินิวส์ ได้เปิดประเด็น ถึงเรื่องราวปัญหาของ กิจการหินและสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ เขาวังปลา หมู่ 11 ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เนื้อที่ 208 ไร่เศษ ได้ถูก ส.ส.นำเข้าไปพูดพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตั้งแต่ปี 64 แต่เรื่องยังไม่จบ เนื่องจากมีผู้นำไปร้องต่อที่ คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) กระทั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจพบว่า การทำกิจการหิน สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ มีข้อบกพร่องจึงเสนอแนะพิจารณายกเลิกและยุติการประกอบกิจการหิน

เหมืองหินกองทัพเรือ ปมร้อนส่อบานปลาย (1)

ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ผู้สื่อข่าวเฉพาะกิจส่วนกลางเดลินิวส์ รายงานว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธาน กมธ.ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงนาม เรื่องการเดินทางของ กมธ.ป.ป.ช.ฯ ลงไปในพื้นที่เหมืองหิน สัมปทานกองทัพเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี วันที่ 28-29 มี.ค.65 เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนการทำสัมปทานผลิตหิน และจำหน่ายหินของกองทัพเรือ โดยได้มอบหมายให้ นายจารึก ศรีอ่อน, นายสุทา ประทีป ณ ถลาง รองปธ.กมธ.ป.ป.ช.ฯ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ปรึกษา ปธ.กมธ.ป.ป.ช.ฯ พร้อมทั้งนักวิชาการ ลงพื้นที่ตรวจสอบ

‘สตง.’เสนอ ‘กองทัพเรือ’ยุติทำเหมืองหิน เหตุไม่ใช่อำนาจหน้าที่(2)

นอกจากนี้ยังได้เชิญ พล.ร.ท.นฤพล เกิดนาค ผบ.ฐานทัพเรือสัตหีบ, พล.ร.ท.ประสาทพร สาทรกิจ ผจก.กิจการหิน สัมปทานกองทัพเรือ, อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี, ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี, นายกเทศมนตรีตำบลเขตรอุดมศักดิ์ และผู้แทนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ร่วมรับฟังข้อเท็จจริงในพื้นที่เหมืองหินสัมปทานกองทัพเรือ อ.สัตหีบ จากนั้นจะเข้าไปประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดชลบุรี เพราะนอกจากการทำเหมืองหินแล้ว ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่าย “มูลดิน” จำนวนมหาศาลภายในเหมืองหิน ก็มีผู้ร้องให้ตรวจสอบข้อมูลการจำหน่วยมูลดินที่ผ่านมาว่า เส้นทางการเงินในส่วนของมูลดินไปตกอยู่ตรงไหนในระบบสวัสดิการ กองทัพเรือ

จับตาปมร้อนเหมืองหินกองทัพเรือ ‘เสรีพิศุทธ์’ เตรียมลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่ม

ขณะเดียวกันช่วงกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี เกี่ยวกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การต่ออายุสัมปทานเพื่อทำเหมืองแร่ ในพื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 หลังได้หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับการต่ออายุสัมปทาน ของกองทัพเรือ (โดยฐานทัพเรือสัตหีบ) ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นข้อกฎหมายแล้วมีการพิจารณาข้อหารือว่า กพร.สามารถพิจารณาต่ออายุสัมปทานบัตรให้กับกองทัพเรือที่ยื่นคำขอต่ออายุประทานบัตรได้หรือไม่

แม้จะเป็นการดำเนินการในพื้นที่เดิมที่เคยมีการทำเหมืองมาก่อน แต่พื้นที่นั้นถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ เพราะอยู่ในเขตทรงสงวนและเขตปลอดภัยในราชการทหาร กพร.จึงไม่อาจพิจารณาต่ออายุประทานบัตรให้แก่กองทัพเรือได้ เพราะขัดต่อหลักการ มาตรา 17 วรรค 4 ประกอบกับ 19 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 รายละเอียดตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา