หลังจากที่มีคำตัดสินจากคณะกรรมการพิจารณาการลงโทษดาราดัง ‘วิลล์ สมิธ’ กรณีตบหน้า ‘คริส ร็อก’ พิธีกรประจำช่วงบนเวทีประกาศรางวัล ‘ออสการ์’ ครั้งล่าสุด โดยห้าม ‘วิลล์ สมิธ’ ร่วมงานที่จัดขึ้นโดยสถาบันศิลปะและวิทยาการแห่งภาพยนตร์และงานที่สถาบันมีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในแวดวงสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ 

ชาวทวิตเตอร์และคนดังจำนวนหนึ่งแสดงความเห็นว่า แม้จะเห็นด้วยว่าจะต้องมีบทลงโทษต่อการกระทำของวิลล์ สมิธ แต่โทษแบน 10 ปี ถือว่าเป็นการลงโทษที่เกินเหตุและสะท้อนให้เห็นการเหยียดผิว หรือมีอคติต่อชาติพันธุ์ ขณะที่ สมิธ ออกแถลงการณ์ยอมรับคำตัดสินของคณะกรรมการจากสถาบันแต่โดยดี 

ด้านสถาบันฯ ชี้แจงในแถลงการณ์ว่า การตัดสินดังกล่าวเป็นก้าวหนึ่งที่มุ่งไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่า ซึ่งก็คือการปกป้องสวัสดิภาพของนักแสดงและแขกรับเชิญในงานประกาศรางวัล รวมถึงเพื่อเป็นการรักษาความน่าเชื่อถือของสถาบันฯ

แต่ในสังคมออนไลน์กลับมีมุมมองต่างออกไป แม้ว่าคนดังบนทวิตเตอร์ส่วนใหญ่จะสงวนความคิดเห็น แต่ก็ยังมีชาวทวิตเตอร์หลายรายแสดงความเห็นว่าสถาบันฯ ตัดสินความผิดโดยมีอคติต่อเชื้อชาติ เนื่องจาก สมิธ เป็นนักแสดงผิวดำ และมีอีกหลายรายที่เปรียบเทียบกับการลงโทษที่เบากว่ากับนักแสดงคนอื่นๆ ในอดีตซึ่งมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือมีความผิดที่ร้ายแรงกว่า

มีการยกตัวอย่างพฤติกรรมที่เข้าข่ายการล่วงละเมิด เช่น กรณีของ ‘เอเดรียน โบรดี’ ที่จูบ ‘ฮัลลี เบอร์รี’ อย่างดูดดื่มบนเวทีประกาศรางวัลออสการ์ปี 2546 หรือกรณีของ ‘จิม แครี’ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ สมิธ อย่างรุนแรง แต่ตัวเขาเองก็เคยทำให้ อลิเซีย ซิลเวอร์สโตน กระอักกระอ่วนใจด้วยการกระทำแบบเดียวกันกับ โบรดี บนเวทีแจกรางวัลเอ็มทีวี อวอร์ดส์ ในปี 2540 

ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งชื่อว่า ‘เฟรเดอริก โจเซฟ’ โพสต์ข้อความว่าโทษแบน 10 ปีของ วิลล์ สมิธ ทำให้เขารู้สึกเหมือนเป็นการ ‘สั่งสอนบทเรียน’ ให้คนผิวดำ ชาวทวิตเตอร์อีกรายในชื่อของ ‘โซมาริ’ ก็แสดงความเห็นต่อข่าวการลงโทษ สมิธ ว่าเป็นการกระทำที่แรงกระตุ้นจากการ ‘เหยียดผิว 100%’ โดยยกกรณีของ แคร์รีและซิลเวอร์สโตน มาเปรียบเทียบ

นอกจากนี้ยังมีชาวทวิตเตอร์รายอื่น ๆ  ที่วิจารณ์ปฏิกิริยาโต้ตอบต่อกรณีของสมิธตบหน้าร็อกว่า ช่างว่องไวมาก เมื่อเทียบกับกระบวนการลงโทษที่เชื่องช้าอย่างเห็นได้ชัดในกรณีที่น่าอดสูกว่าของผู้ที่ได้รับรางวัลออสการ์รายอื่น ๆ เช่น กรณีของ โรมัน โปลันสกี, เควิน สเปซี, ฮาร์วี ไวน์สไตน์ ซึ่งล้วนแต่พัวพันกับคดีการล่วงละเมิดทางเพศ

อย่างไรก็ตาม หลังจากกระแสการติดแฮชแท็ก #MeToo และการแฉพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศของคนดังและผู้มีอำนาจก็ทำให้สถาบันฯ ต้องตั้งมาตรการใหม่ในปี 2560 เพื่อเป็นการตอบโต้กรณีของไวน์สไตน์ ซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีล่วงละเมิดทางเพศ 

จากข้อมูลการขับสมาชิกออกจากสถาบันฯ นั้น มีเพียง ไวน์สไตน์, โปลันสกี และบิลล์ คอสบี ที่โดนขับออกจากสมาชิกภาพ โดยที่ไม่มีการยึดคืนรางวัลออสการ์ที่มอบให้ ไวน์สไตน์และโปลันสกี

‘เพียร์ซ มอร์แกน’ นักเขียนและผู้ประกาศข่าวฝีปากกล้าชาวอังกฤษ วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนบนทวิตเตอร์ของเขาว่า “ข่าวด่วน : วิลล์ สมิธโดนสถาบันฯ ฮอลลีวูด แบนหลังจากที่เขาตบหน้าคริส ร็อกได้ 12 วัน แต่สถาบันฯ ต้องใช้เวลาถึง 40 ปี กว่าจะตัดสินโทษแบน โรมัน โปลันสกี หลังจากที่เขาโดนศาลตัดสินว่าผิดจริงในข้อหาข่มขืนผู้เยาว์”

ชาวทวิตเตอร์อีกรายเรียกร้องให้ร่วมกัน ‘แบนออสการ์’ เป็นเวลา 10 ปีเช่นกัน ในเมื่อสถาบันฯ ยินยอมให้มีการแสดงออกถึงการเหยียดเชื้อชาติและล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่มีบทลงโทษที่ชัดเจน

กระนั้น ก็ยังมีคนจำนวนมากในโลกออนไลน์ที่เห็นด้วยกับคำตัดสินของสถาบันฯ รวมทั้งกลุ่มที่แสดงความเห็นในเชิงประนีประนอมและชี้ให้เห็นว่าแม้สถาบันฯ จะห้าม สมิธ เข้าร่วมงานที่จัดขึ้น แต่ก็ไม่มีการห้ามเขาจากการเป็นผู้เข้าชิงหรือได้รับรางวัลของสถาบันฯ ในอนาคตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร

แหล่งข่าว : Latimes.com

เครดิตภาพ : Reuters