เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 เม.ย. น.ส.ปิยะดา (สงวนนามสกุล) อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปี 1 มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งย่านรังสิต พร้อมด้วยนายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ เข้าแจ้งความกับ พ.ต.ท.ไตรพงษ์ วงศ์อมรอัครพันธ์ สว.(สอบสวน) สน.โชคชัย เพื่อให้ดำเนินคดีกับ 2 แพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนชื่อดัง ย่านลาดพร้าว ที่วินิจฉัยโรคผิด ในข้อหา “ร่วมกันกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส”

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 64 น.ส.ปิยะดา มีอาการปวดท้อง จึงให้คุณแม่พาไปหาหมอที่โรงพยาบาลเอกชนชื่อดังย่านลาดพร้าว และได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคจากแพทย์ของโรงพยาบาลแห่งนี้ถึง 2 ท่าน โดยวินิจฉัยว่ามีการตรวจพบก้อนเนื้อ จำนวน 3 ก้อน ในลำไส้เล็กและมีแนวโน้มว่าจะเป็นเนื้อร้ายจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยวิธีการผ่าตัดใหญ่เป็นการด่วน ทำให้คุณพ่อคุณแม่ของ น.ส.ปิยะดา รีบตัดสินใจให้ดำเนินการผ่าตัด เพราะกลัวว่าลูกสาวจะได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต

ต่อมาวันที่ 22 ธ.ค. แพทย์ทั้ง 2 ราย ที่วินิจฉัยได้ร่วมกันผ่าตัดใหญ่ โดยวิธีเปิดหน้าท้องเพื่อผ่าตัดเอาเนื้อร้าย 3 ก้อนออกจากลำไส้เล็ก แต่ปรากฏว่าเมื่อผ่าตัดแล้วกลับไม่พบเนื้อร้ายดังกล่าวแต่อย่างใด อันเป็นการวินิจฉัยโรคผิดพลาดอย่างร้ายแรง นอกจากนี้แพทย์ทั้ง 2 ยังได้ผ่าตัดเอารังไข่ด้านซ้ายและไส้ติ่งออกไปโดยไม่มีความจำเป็นต้องกระทำเช่นนั้น ทำให้ น.ส.ปิยะดา สูญเสียไส้ติ่ง อวัยวะที่มีประโยชน์ ทำหน้าที่สร้างและปกป้องเชื้อจุลินทรีย์ในช่องท้อง ซึ่งจุลินทรีย์จะช่วยในระบบการย่อยอาหาร และยังทำหน้าที่กระตุ้นระบบย่อยอาหารให้กลับมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในกรณีที่ติดเชื้อโรคอหิวาต์ และสูญเสียค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดที่ไม่จำเป็น อีกทั้งยังต้องทนทุกข์ทรมานจากการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ซึ่งเป็นการผ่าตัดใหญ่ ทำให้หน้าท้องมีแผลเป็นเสียโฉมติดตัว และกระทบต่อสุขภาพจิตในระยะยาวตลอดชีวิต อีกทั้งหยิบยืมเงินต้องเสียค่าใช้จ่ายไป จำนวน 334,199 บาท ซึ่งภายหลังการผ่าตัด ทางผู้เสียหายได้พยายามสอบถามแพทย์ทั้ง 2 รายดังกล่าว และโรงพยาบาล แต่กลับถูกเพิกเฉย

นายอนันต์ชัย เปิดเผยว่า ได้แจ้งความดำเนินคดีกับแพทย์ 2 คน ที่ทำการวินิจฉัยโรคและผ่าตัด ในข้อหา “กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 และอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลว่าจะเข้าข่ายความผิด เจตนาให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือไม่ อีกทั้งสัปดาห์หน้าจะฟ้องแพ่ง เรียกร้องค่าเสียหายจากโรงพยาบาลต้นเหตุเป็นเงิน 10 ล้าน และคิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี และจากนั้นจะไปร้องแพทยสภา ให้ตรวจสอบแพทย์ผู้รักษาด้วย.