ในช่วงดึกของวันที่ 25 ก.ค. อยู่ๆ ในโลกโซเชียลฯ ก็มีกระแสข่าวที่คาดว่า ปล่อยมาจาก “คนดัง” รายหนึ่งที่ออกมาตำหนิการทำงานของรัฐบาลบ่อยๆ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม จะประกาศลาออก ทำให้มีการเอาไปโยงกันมั่วไปหมดว่า “จะมีนายกฯ พระราชทานลงมาแก้ปัญหา” “มีรัฐบาลแห่งชาติ” อะไรไม่รู้วุ่นวาย

อันดับแรกต้องบอกว่า ความตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยของคนไทยมีมากขึ้น คงไม่มีการยอมอยู่แล้วถ้าเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่โดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และในส่วนของสถาบันฯ ก็ไม่ลงมาแทรกแซงการเมือง ในภาวะที่ข้อมูลข่าวสารสับสนเช่นนี้ไม่รู้จะปล่อยข่าวให้ได้อะไรขึ้นมา มันยิ่งทำให้คนเกิดความกลัว นำมาสู่ความไม่สงบ

หาก พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจริง ก็มีผลให้ต้องประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกฯ คนใหม่ ทีนี้ “ฝ่ายข่าวลือ” ก็บอกว่า ตอนนี้แคนดิเดตก็น่าจะเหลือไม่กี่คน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ถูกตัดสิทธิไปแล้ว คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็ออกจากเพื่อไทยไปแล้ว ไม่น่าจะกลับมาเป็นแคนดิเดต นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็จะลงผู้ว่าฯ กทม.แล้วบัญชีเดิมจะเหลือใคร?

จากบัญชีแคนดิเดตนายกฯ เดิม พรรคเพื่อไทยก็เหลือ นายชัยเกษม นิติสิริ พรรคประชาธิปัตย์ คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคภูมิใจไทยคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ดูภาพแล้ว “เห็นทีว่าจะมีตัวเลือกไม่เพียงพอ” ก็เลยเอาไปตีความกันเป็นนายกฯ พระราชทาน ซึ่งจริงๆ ตามรัฐธรรมนูญมันมีทางออกให้

ถ้าต้องประชุมร่วมสองสภา เพื่อเลือกนายกฯ ใหม่จริง ก็ต้องดูว่า ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ถ้าเลือกนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมืองไม่ได้ (คือไม่มีคนไหนได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง) สมาชิกสองสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เข้าชื่อเสนอประธานรัฐสภา ขอให้ยกเว้นการเลือกนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมือง

และผลการประชุมต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา ให้ยกเว้นการเลือกนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมือง จากนั้น ก็ต้องย้อนกลับไปรัฐธรรมนูญ ม.159 การเสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมือง ซึ่งไม่ว่าอย่างไร “ต้องใช้เสียงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอคน” แล้วก็โหวตโดยเสียง 2 สภา วุฒิสภาไม่มีสิทธิเสนอชื่อ

พรรคที่มีสิทธิเสนอชื่อ คือพรรคที่มี ส.ส.เกิน 5% หรือ 25 คน คือ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์  ซึ่งสามารถเสนอคนที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคก็ได้ อย่างเช่นคราวเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

และถ้ามามองสถานการณ์ขณะนี้ พรรคการเมืองที่มีแคนดิเดตนายกฯ ชัดๆ ก็น่าจะเป็นพรรคก้าวไกล คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค พรรคภูมิใจไทยก็คงเสนอชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคประชาธิปัตย์ก็คงเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หรือจะไปเอานายอภิสิทธิ์กลับมาอีกครั้งก็ได้ ส่วนเพื่อไทยกับพลังประชารัฐนั้นไม่ชัดเจน

ตัวแปรที่สำคัญอีกอย่างคือ ขณะนี้การแก้ปัญหาโควิดต้องใช้ความเร็วในการตัดสินใจ จะมาเล่นเกมการเมืองเรื่องเลือกนายกฯ กันเห็นว่าจะทำให้งานสะดุด เลือกนายกฯ ใหม่เสร็จก็วิ่งกันเรื่อง ครม. เสียเวลาอีก ซึ่งเชื่อได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ปล่อยให้เกิดสภาพนั้น เพราะมีหลายปัญหาที่ต้องแก้ด่วน เป็นรัฐบาลรักษาการก็ติดขัดหลายอย่างเช่นอนุมัติงบประมาณ

ดังนั้น สรุปคือ เมื่อมีกลไกตามรัฐธรรมนูญอยู่ ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้นายกฯ พระราชทาน พวก “เจ้ากรมข่าวลือ” นี่ควรอยู่เงียบๆ อย่าเอาเรื่องการเมืองมาสร้างความตื่นตระหนกในภาวะวิกฤติอีก อย่าเอาประเด็นประเภทราชนิกุลดังออกมาไล่นายกฯ หรือกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ประกาศจะกลับไทย มามโนต่อเองเป็นฉากๆ

และถ้าเสนอชื่อโดย ส.ส. ก็เอาคนของพรรคนั่นแหละ คงไม่ไปเอาคนนอกมาจากไหน.