รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า ขณะนี้สะพานขึงรถไฟ (Extradosed Bridge) แห่งแรก และมีความยาวที่สุดในประเทศไทย ได้เชื่อมต่อโครงสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองเสร็จเรียบร้อย 100% อยู่ระหว่างเตรียมติดตั้งงานระบบการวางรางบนสะพาน ซึ่งเป็นทางเดี่ยว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน สำหรับสะพานดังกล่าวถือเป็นไฮไลต์สำคัญของโครงการรถไฟทางคู่ สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 3.39 หมื่นล้านบาท โดยงานก่อสร้างอยู่ในสัญญาที่ 1 นครปฐม-หนองปลาไหล เป็นสะพานขึงรถไฟ มีความยาวรวม 340 เมตร (ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองยาว 160 เมตร) กว้าง 7.64 เมตร

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า สะพานขึงรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง ตั้งอยู่บริเวณ อ.เมือง จ.ราชบุรี คู่ขนานกับสะพานจุฬาลงกรณ์ ไม่มีเสาตอม่อกลางแม่น้ำ มีตอม่อแค่ 2 ฝั่งแม่น้ำ เป็นทางเดี่ยว โดยเป็นทางเดิน 1 เมตร และมีเสา Pylon สูง 17.5 เมตร อย่างไรก็ตาม สะพานแห่งนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ด้านการคมนาคมขนส่งแล้ว จะช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติเดินทางมาเที่ยวชม พร้อมศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ กลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของเมืองราชบุรี และที่ท่องเที่ยวระดับนานาชาติต่อไปด้วย

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ภาพรวมคืบหน้า 94.16% ช้ากว่าแผน 6.50% ซึ่งสัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล ระยะทาง 93 กม. วงเงินก่อสร้าง 8,198 ล้านบาท โดยบริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนี่ยริ่ง 1964 จำกัด คืบหน้า 97.12% ช้ากว่าแผน 7.84%, สัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน ระยะทาง 76 กม. วงเงินก่อสร้าง 7,520 ล้านบาท โดยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) คืบหน้า 94.92% ช้ากว่าแผน 4.09%, สัญญาที่ 3 ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. วงเงินก่อสร้าง 5,807 ล้านบาท โดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์จำกัด (มหาชน) คืบหน้า 99.99% ช้ากว่าแผน 0.01%,  

สัญญาที่ 4 ช่วงประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย ระยะทาง 88 กม. วงเงินก่อสร้าง 6,465 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้าเคเอส-ซี คืบหน้า 88.20% ช้ากว่าแผน 11.18% และ 5. ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร ระยะทาง 79 กม. วงเงินก่อสร้าง 5,992 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้า เอสทีทีพี คืบหน้า 90.58% ช้ากว่าแผน 9.41% อย่างไรก็ตามทั้ง 5 สัญญาครบกำหนดสัญญาแล้ว บางสัญญาครบกำหนดตั้งแต่สิ้นเดือน ส.ค.65 ขณะที่บางสัญญาครบกำหนดเมื่อสิ้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงได้รับการต่อสัญญา และส่งมอบงานออกไปอีก 6 เดือน คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จไม่เกินเดือน มี.ค.66

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า เมื่อแล้วเสร็จจะติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ 1 ปี และเปิดให้บริการได้ประมาณปี 67 จากเดิมคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 66 ทั้งนี้จากการที่คณะกรรมการตรวจรับงานลงสำรวจงานเบื้องต้น พบว่า งานยังเหลืออีกเยอะที่แม้จะทำแล้วเสร็จ แต่เมื่อเปิดให้บริการยังไม่สามารถใช้ได้ โดยเฉพาะเรื่องความเรียบร้อย ซึ่งต้องให้ปรับปรุงแก้ไขก่อน อาทิ งานปูกระเบื้องที่ไม่เรียบ พื้นยังเป็นแอ่ง ความแข็งแรงของชานชาลาเป็นต้น ส่วนกรณีที่ลิฟต์ และสะพานลอยหายนั้น เบื้องต้น รฟท. จะเร่งรัดให้ผู้รับจ้างดำเนินการนำกลับคืนมา รวมทั้งจะมีการตั้งคณะทำงานภาคีคนพิการ ภาคประชาชน ทำงานร่วมกับ รฟท. เกี่ยวกับประเด็นสิ่งอำนวยความสะดวกบนชานชาลาในสถานีต่างๆ ด้วย.

ขอบคุณภาพประกอบจาก ทีมงานทางคู่สายใต้