เห็นข่าว พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศจะผลักดันไทยให้เป็น ศูนย์กลางการแข่งขันด้าน E-Sport ผ่านนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) เป็นผู้จัดการในเรื่องนี้

พอประกาศปุ๊บ ก็มีเสียงวิจารณ์ปั๊บ หลายคนมองว่า “เป็นเกมการเมืองเพื่อดึงเอาฐานเสียงคนรุ่นใหม่ บ้างก็ว่าทำไม่ได้หรอกนโยบายหลายอย่างก็ไม่เคยทำได้” อันนี้ชาวเกมเมอร์เขาพูดกันนะครับผมไม่ได้พูด แต่ในที่นี้ผมจะไม่เอาเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องนะครับ เราพูดจะถึงมุมมองเรื่อง E-sport ล้วนๆ 

เอาจริงๆ การที่นายกฯ ออกมาพูดเกี่ยวกับเรื่อง E-sport ก็ถือเป็น “สัญญาณที่ดี” สัญญาณนึง แต่ถ้าจะทำกันจริงๆ จังๆ ถือว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ DES ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ หากต้องการจะเป็น ศูนย์กลางการแข่งขันด้าน E-Sport จริงๆ เหมือนกับประเทศที่ถูกเรียกว่าเป็น Home of Esport อย่าง เกาหลีใต้ หรือประเทศฝั่งตะวันตก อย่างยุโรป หรือที่เขาก้าวหน้ากันไปไหนถึงไหนแล้ว

ขอบคุณภาพจาก Thaigov.

เปลี่ยน Mindset ผู้ใหญ่และเด็กให้มองเกมเสียใหม่

“ต่อให้ตั้งองค์กรมากี่องค์กร เด็กไทยคนไทยได้แชมป์มากี่ครั้ง ถ้า mindset ผู้ใหญ่ไม่เปลี่ยน ไทยก็ไม่มีทางเป็นศูนย์กลาง E-Sport ได้” เพราะทุกวันนี้ก็ยังเห็นมีสื่อ หรือแม้กระทั่งมีผู้บุคคลระดับชั้นผู้ใหญ่ทั้ง ตำรวจ สว. พูดแบบว่าไม่ว่าจะเกิดเหตุอะไรก็โทษเกมไว้ก่อน อันนี้ผมไม่ได้พูดอยู่ลอยๆนะครับลองไปค้นดูตามสื่อต่างๆ ดูก็ได้ ถ้าจะทำกันจริงๆ ต้องเปลี่ยน “ภาพจำของเกมในสังคมไทย” ให้ได้อย่างเกาหลีใต้ ที่นั่นเขาทำเป็นวัฒนธรรมกันเลยทีเดียว นักกีฬา E-sport นี่แทบจะเหมือน “ไอดอล” คนนึงเลย ลองดูอย่าง Faker ก็ได้เวลาพูดอะไรแต่ละทีนี่คนจับจ้องตลอด วัดความดังง่ายๆ คือแม้คนที่ไม่ได้เล่นเกมก็ยังรู้จักเขาเลย

ถ้าถามว่าผมพิสูจน์ได้อย่างไรเพราะผมเคยได้ไปเยือนเกาหลีใต้ครั้งนึง โชคดีที่ช่วงนั้นกำลังมีการแข่งขัน E-sport พอดี สังเกตได้เลยว่าเวลามีการแข่งขันนอกจากจะมีการถ่ายทอดสดใน แพลตฟอร์มออนไลน์ แล้ว ในแพลตฟอร์มทั่วไปอย่าง TV ก็เคยจะมีช่องที่ถ่ายหรือทำสกู๊ปและผลิตรายการวาไรตี้โดยเฉพาะอย่าง OGN หรือแม้แต่ตามข้างถนนก็ยังมีการประชาสัมพันธ์ รวมถึงมีการถ่ายทอดสดร่วมด้วย เพื่อให้มันซึมซับเข้าไปว่า E-sports ก็เป็นหนึ่งใน POP Culture ประจำชาติ เขาทำจนแบบว่า ชาวเกาหลีเคยนิยามเกม StarCraft เป็นกีฬาประจำชาติเทียบเท่าเทควันโดได้ ต้องทำถึงขั้นนั้นเลย

นอกจากนี้รัฐไทยก็ต้องให้ความรู้กับผู้ใหญ่ว่า “การเล่นเกมมันไม่ได้เลวร้ายเสมอไป” หากพ่อแม่มีเวลาเอาใจใส่ลูกที่มาก พาลูกออกไปทำอย่างอื่น ซึ่งจะโยนภาระจะให้ฝั่งพ่อแม่เพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ ปัจจัยคือสภาพสังคม คุณภาพชีวิตก็ต้องดีพอให้พ่อแม่มีเวลาดูลูกด้วย (อันนี้เป็นโจทย์ที่รัฐต้องแก้ให้ได้) เพราะปัญหาเด็กติดเกมส่วนนึงก็มาจาก การที่พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ นี่แหละ แล้วต้องอย่าลืมว่า ผู้พัฒนาหรือแพลตฟอร์มจำหน่ายไม่ได้ยัดเยียดเกมมาให้เด็กเล่น เด็กในยุคปัจจุบันสามารถเข้าถึงเกมเองได้ แล้วถ้าพูดถึงเกมที่เป็นสาเหตุเริ่มต้นให้คนไทยเริ่มกล่าวโทษว่าเกมเป็นเหตุแห่งความรุนแรงอย่าง GTA ถ้าเรามองให้ดีๆ แล้ว ตัวเกมก็เพียงแค่สะท้อนอีกมุมนึงของสังคมเท่านั้นเอง ถ้าเราสามารถสอนให้เด็กรู้จักเรียนรู้และแยกแยะ ว่าอันไหนคือโลกจริง โลกของเกม อันไหนมีควรทำไม่ควรทำ โดยเริ่มจากสถาบันที่ใกล้ตัวเด็กที่สุดอย่าง สถาบันครอบครัว หรือ สถาบันการศึกษา ผมเชื่อปัญหาเด็กติดเกมก็น่าจะลดน้อยลงไปได้

ส่วนที่ต้องปรับมุมมองของเด็กคือ ต้องรัฐทำให้เด็กมองว่า ในวงการนี้ไม่ได้มีนักกีฬา E-sport เพียงอย่างเดียว เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นนักกีฬา E-sport ได้ อีกทั้งวงการ E-sport บ้านเรายัง ขาดบุคคลการในวงการ E-sport อีกมาก ทั้งโค้ช ขาด Analysis Shoucaster ขาด Programmer หรืออะไรที่ดูจะไม่เกี่ยวข้องอย่าง Creative, Marketing, นักโภชนาการ หรือแม้นักจิตวิทยา ก็มีความจำเป็นต่อการพัฒนาวงการมากๆ ไม่แพ้กัน คือผมจะสื่อว่า ไม่ว่าจะเรียนสาขาที่เกี่ยวข้องกับ E-sport หรือไม่ ก็สามารถทำงานในวงการ E-sports ได้ ซึ่งพื้นที่ในวงการยังเปิดกว้างสำหรับทุกคนอยู่แล้ว

โดยจากที่เห็นหลายๆ สถานศึกษาที่มีสาขา E-sport ก็เริ่มมีสอดแทรกแง่มุมอื่นๆ ทั้ง การบริหารธุรกิจ (E-sport Bissness) การจัดการแข่งขัน (E-sport Organize) เพิ่มเข้ามาแล้ว ถ้ารัฐสามารถให้ความรู้และเปิดมุมมองแก่ให้กับเด็กและผู้ใหญ่เพิ่มเติมได้ ผมเชื่อวงการอีสปอร์ตไทยน่าจะไปไกลมากกว่านี้แน่นอน

ถ้าคิดจะพัฒนาต้องพัฒนารากฐานเริ่มจาก “Community”

ที่เกาหลีนั้นมี Community ของหลายๆ เกมที่แข็งมาก และจุดเริ่มต้นของมันก็มักจะเกิดมาจากร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ (ร้านเกม) หรือที่เรียกว่า PC BANGS  ตัวผมเคยมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัส 1 ใน PC BANGS ของเกาหลี แม้จะเป็นร้านนอกเมือง (แบบต่างจังหวัด) แต่ก็ยังมีบรรยากาศเหมาะกับการเล่นเกม สเปกของคอมพ์เทพ อินเทอร์เน็ตเร็วๆ สิ่งอำนวยความสะดวกน้ำขนมมีพร้อม และไม่มีความอึมครึมเหมือนของไทย ไม่มีการมั่วสุม ไม่มีการทำผิดกฏหมาย แถมยังมีมากยั่งกะดอกเห็ด ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือ “เพชรเม็ดงาม” แห่งวงการ E-sport ก็มักจะมารวมอยู่ในนั้น มากกว่าที่จะเล่นอยู่ในบ้านเพราะเน็ตก็แรงขนมก็มี จะเห็นได้จากนักกีฬาเกาหลีหลายคนก็มักจะเริ่มต้นมาจากใน PC BANGS  นั่น หละ 

แต่พอมองย้อนกลับมาในไทย ก็ต้องบอกว่าสถานการณ์ร้านเกมในไทยอาจจะ กำลังถึงจุดจบ หลายๆ ร้านคนเริ่มเล่นน้อยลง เริ่มแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว แถมคนก็เลือกที่จะเล่นเกมที่บ้านมากขึ้น ถ้ารัฐเลือกที่จะไม่อุ้มหรือปรับเปลี่ยนจัดระเบียบร้านเกม อีกสิ่งนึงที่ทำได้คือการ ส่งเสริม หรือเข้าเป็นแหล่งเงินทุนให้กับการเเข่งขันระดับ C-Teir หรือระดับเล็กอย่างเช่นในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย หรือตามกลุ่มเกมให้มากขึ้น จะกำหนดให้ทำ Proposal เข้ามาขอเงินจากสมาคมก็ได้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันพัฒนาฝีมือและดึงให้คนยังสนใจเกมนั้นอยู่ เพราะ  เกมจะอยู่ได้ก็เพราะ Community  นักกีฬาก็เป็นส่วนนึงใน Community ถ้า Keep Community ไม่ได้ นักกีฬาก็จบ เกมนั้นก็จบไปด้วย สิ่งนี้มันแสดงให้เห็นว่า Community ของเกมนั้นสำคัญขนาดไหน

ถ้าจะทำระบบ Academy ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังด้วย

แม้ผมจะเห็นด้วยกับระบบ Academy แต่เมื่อมองย้อนไปดูระบบ Academy ของเกาหลีที่หลายๆ ปี ต้องมีเด็กหลายคนต้องได้รับการบำบัดจากการเล่นเกมมากเกินไป จึงเห็นว่าถ้าทำให้มันจริงจัง ผมก็แนะนำว่าอยากให้หลายๆ ทีมมีระบบ Academy เป็นของตัวเอง (หรือถ้ารัฐจะสร้าง Academy เองก็ได้) แต่ทางภาครัฐต้องลิงก์ทางที่สามารถไปต่อได้เช่น เกาหลีใต้ได้บริษัท GEN.G จาก อเมริกามาลงทุน ข้อแลกเปลี่ยนก็คือ สามารถสมัครทุนการศึกษาด้านอีสปอร์ตกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาได้ สำหรับในส่วนประเทศไทย ถ้าไม่ลองหาบริษัทต่างชาติมาลงทุน ก็ลองไปดีลทำ MOU กับทางทีมหรือมหาวิทยาลัยทุนการศึกษาด้านอีสปอร์ตกับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ คือต้องทำให้มี Safety Net รองรับคนที่ล้มไว้เพื่อไม่ให้เกิดเป็นปัญหาสังคมด้วย

และถ้าถามว่าการส่งนักกีฬาไปแข่งขันต่างประเทศหรือเล่นกับทีมชั้นนำของโลกแล้ว เราจะได้อะไร เดี๋ยวข้อต่อไปผมจะมาอธิบายให้ฟังครับ

ขอบคุณภาพจาก Gen.G Academy

ปั้นนักกีฬา “ส่งออก” ได้ก็ควรทำ

ผมว่านี่ก็เป็นอีกสิ่งนึงที่ผมคิดว่าควรจะทำอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะแสดงให้เห็นว่าเราเก่งแค่ไหน นักกีฬาที่ได้ไปเล่นในทีมชั้นนำของต่างประเทศ ต่อให้จะไม่ประสบความสำเร็จ เขาก็จะนำประสบการณ์ที่ได้รับมาพัฒนาวงการให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ถ้าจะยกตัวอย่างให้ชัดๆ ก็คือพี่ Mickie หรือ ปองภพ รัตนแสงโชติ ที่เคยไปเล่นให้กับทีมระดับโลกอย่าง EnvyUs หรือที่ใน Overwatch Leauge คือทีม Dallas Fuel ซึ่ง ณ ตอนนี้พี่ Mickie เขาก็นำประสบการณ์ในการกลับมาช่วยพัฒนาวงการ E-sport อยู่หลายครั้ง ทั้งในฐานะผู้เล่นและทั้งในฐานะโค้ช ผลงานก็ไม่ใช่ที่ไหนไกลทีม Bacon Time ขวัญใจมหาชนนั่นเอง

แต่ถ้าถามว่าในมุมนี้รัฐจะช่วยอะไรได้ก็มีตั้งหลายทาง เช่น สนับสนุนเงินค่าเดินทางในการไปแข่งขันต่างประเทศ หรือร่วมกับภาคเอกชน ดึงการแข่งขันระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทย หรือสิ่งที่สำคัญที่สุดคือช่วยทลาย “กำแพงภาษา” ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของนักกีฬาไทย เพราะนักกีฬาเรามีศักยภาพอยู่แล้ว ถ้ามีเวทีหรือสามารถทลายกำแพงตรงนี้ได้ เราอาจจะได้เห็น คนที่เก่งเหมือนกับ Jabz , 23Savage หรือพี่ Mickie ที่ได้ไปโลดแล่นกับทีมโลกอีกสัก 10 คนก็ได้

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของงานที่รัฐไทยต้องทำและให้การสนับสนุนเท่านั้น ยังมีงานและรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากที่ยังไม่ได้อธิบายซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนมีความสำคัญ หากรัฐไทยนั้นต้องการ จะผลักดันให้ประเทศไทยให้เป็น ศูนย์กลางการแข่งขันด้าน E-Sport จริงๆ 

สวัสดีครับ.

——————————————–
GAMESTALK BY INSIDE THE GAME
คอลลัมน์โดย Wacther
ติดตามรีวิวเกมส์ และ อื่นๆที่น่าสนใจได้ที่ : INSIDE THE GAME