บนภูเขาทางภาคเหนือของไทยที่ความสูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป มีระบบนิเวศพิเศษอันแสนเปราะบางแอบซ่อนอยู่ โดยมิได้เป็นผืนป่าใหญ่ แต่กระจายเป็นหย่อม ๆ เฉพาะยอดเขาเท่านั้น เรียกว่า “ป่าดิบเขาระดับสูง หรือ ป่าเมฆ” มีอากาศเย็นถึงหนาวตลอดปี ยิ่งเป็นช่วงฤดูหนาวก็จะลดต่ำลงกว่านี้ จนเกิด “แม่คะนิ้ง หรือ น้ำค้างแข็ง” ขึ้นได้ ภูเขาสูงมากเช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัย เทือกเขาแดนลาว ที่เกิดจากการดันตัวของเปลือกโลกพร้อมกับเทือกเขาหิมาลัยเมื่อ 65 ล้านปีก่อน ที่พาดผ่านประเทศเนปาล ภูฏาน เมียนมา และมาสิ้นสุดยังภาคเหนือของไทย จึงเป็นระบบนิเวศตัวแทนของหิมาลัยในประเทศไทย โดยมีพืชพรรณและสัตว์ป่าหลายชนิดคล้ายกับบนเทือกเขาหิมาลัย เช่น ต้นกุหลาบพันปี เป็นต้น

“ป่าเมฆ” ในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวจะปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกเกือบตลอดวัน มีความชื้นสูงมากโดยอาจเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ตลอดเวลาในช่วงฤดูฝน เรือนยอดไม้ชั้นบนสูงประมาณ 20 เมตร กิ่งก้านคดงอ ก่อตัวเป็นก้อน ๆ บนกิ่งใหญ่ ตามลำต้นมีมอสเกาะติดหนาแน่นเขียวชอุ่ม ผืนป่าแน่นทึบด้วยซากพืช มีน้ำขังบาง ๆ ปกคลุมบนผิวดิน อาจทำให้เกิดพื้นที่ชุ่มน้ำบนยอดเขาได้ เช่น อ่างกา บนยอดดอยอินทนนท์ และในที่ชื้นแฉะมักพบ “ข้าวตอกฤๅษี” ขึ้นอยู่บนพื้นดินด้วย

เลียงผา
กวางผา

“สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่” ที่อาศัยเป็นประจำในป่าชนิดนี้ ได้แก่ กวางป่า หมูป่า เลียงผา และที่จัดได้ว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีถิ่นกระจายประจำในป่าชนิดนี้ คือ กวางผา ลิงอ้ายเงี้ยะ ลิ่นเล็ก เพียงพอนเหลือง เพียงพอนเส้นหลังขาว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ ที่พบเห็นได้ในป่านี้ ซึ่งอาจอยู่เป็นประจำ หรือขึ้นมาใช้ประโยชน์พื้นที่ในบางฤดูกาล คือ หมูหริ่ง หมาหริ่ง หมีควาย เสือโคร่ง เสือดาว ช้างป่า และกระทิง เป็นต้น

นกกินปลีหางยาวเขียว
นกขัตติยา
นกกะรองทองแก้มขาว

“นกในป่าดิบเขา” มีหลายชนิดที่แตกต่างจากที่อื่น โดยเฉพาะนกที่ย้ายถิ่นมาในช่วงฤดูหนาว ชนิดนกสำคัญ ได้แก่ นกเงือกคอแดง ไก่ฟ้าหลังขาว นกแว่นสีเทา นกกระทาดงคอสีแสด นกพิราบเขาสูง นกเขาลายใหญ่ นกเขาลายเล็ก นกแต้วแล้วใหญ่หัวสีน้ำตาล นกพญาไฟคอเทา นกปรอดลาย นกปรอดภูเขา นกกะรางอกน้ำตาลไหม้ นกกะรางอกลาย นกกะรางหางแดง นกมุ่นรกตาแดง นกศิวะปีกสีฟ้า นกขัตติยา นกปีกลายตาขาว นกหางรำ และนกขนาดเล็กอื่น ๆ อีกหลายชนิด

“สัตว์เลื้อยคลานของป่าดิบเขา” โดยทั่วไปคล้ายคลึงกันกับป่าสนเขา ส่วนชนิดที่ค่อนข้างหายาก ได้แก่ เต่าปูลู เต่าจัน เต่าห้วยคอลาย เต่าหก เต่าเดือย ตุ๊กแกป่าพม่า จิ้งจกเขาสูงยูนาน กิ้งก่าเขาหนามสั้น กิ้งก่าพม่า กิ้งก่าเขาสูง กิ้งก่างู จิ้งเหลนภูเขาสามนิ้ว จิ้งเหลนเรียวพม่า งูเหลือม และงูชนิดอื่น ๆ อีกหลายชนิด

ปัจจัยคุกคามป่าดิบเขาในทางภาคเหนือ ได้แก่ ถูกบุกรุกทำลายเปลี่ยนสภาพเป็นที่ทำกินของชาวไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อย ที่โยกย้ายเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน จนเหลือที่มีสภาพสมบูรณ์อยู่น้อยเฉพาะพื้นที่อนุรักษ์บางแห่ง อีกทั้งมีไฟป่าจากน้ำมือของมนุษย์จุดเผาโดยตั้งใจและมิได้ตั้งใจ ทำให้พันธุ์ไม้ดั้งเดิมสูญหายไปจึงทำให้น่าวิตกว่า “พันธุ์ไม้หายาก” หลายชนิดอาจหมดไป

การส่งเสริมการเกษตรในที่สูงของรัฐบาลในหลาย ๆ โครงการที่หวังว่าจะเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ป่าดิบเขาและหยุดการปลูกฝิ่น กลับกลายเป็นการเร่งทำลายสังคมป่าชนิดนี้ของประเทศไทยหลายพื้นที่ กลายเป็น “ไร่กะหล่ำปลี” ที่สามารถปลูกได้ 3 ครั้งต่อปี ทำให้ชาวไทยภูเขาเห็นช่องทางที่จะสร้างความร่ำรวย จึงมีการทำลายพื้นที่กว้างขวางยิ่งขึ้น การใช้ยาฆ่าแมลงที่เป็นสารพิษตกค้าง ลงสู่ลำห้วยลำธารทำลายสัตว์ป่าในระบบนิเวศนี้อย่างหนัก และการผันน้ำออกไปใช้ในไร่กะหล่ำปลีก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำต่อพื้นที่เกษตรในตอนล่างปัญหาสลับซับซ้อนนี้ ต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานหลายฝ่าย เพื่อขจัดให้หมดไปและทำการอนุรักษ์ไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสม รัฐบาลจะต้องควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินบนเขาสูงโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะที่ระดับความสูงเกินกว่า 1,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ต้องปลอดจากการทำลายและปราศจากแตะต้องจากมนุษย์โดยเด็ดขาด

ภายใต้แนวคิด “คนอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ด้วย และช่วยเหลือกันตลอดไป”.

เรื่อง/ภาพ นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ