เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ภายในระยะเวลาเพียง 6 สัปดาห์ หลังกลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง ตามการลงนามในข้อตกลง 14 ข้อ ร่วมกับพล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของซูดาน เมื่อปลายเดือน พ.ย. 2564 ที่รวมถึงการคืนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้แก่ฮัมด็อก อดีตนักการทูต ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาล หลังการรัฐประหารครั้งก่อน เมื่อปี 2562 ให้ทำหน้าที่นี้ต่อจนกว่าจะถึงกำหนดการเลือกตั้งทั่วไป ที่กองทัพกล่าวว่า จะเกิดขึ้นภายในเดือน ก.ค. 2566

อย่างไรก็ตาม การกลับมารับตำแหน่งของฮัมด็อกสร้างความไม่พอใจให้กับหลายฝ่าย ซึ่งมองว่าฮัมด็อก “หักหลัง” และ “เป็นการฆ่าตัวตายทางการเมือง” ด้วยการยินยอมกลับมาร่วมงานกับกองทัพที่ยึดอำนาจตัวเอง

ทั้งนี้ ฮัมด็อกลาออกโดยให้เหตุผลว่า พยายามแล้วอย่างสุดความสามารถ เพื่อป้องกันไม่ให้ซูดาน “ต้องยืนบนปากเหวอีก” แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมการเจรจา และเห็นพ้อง “กฎบัตรแห่งชาติ” เพื่อ “ความอยู่รอด” ของทุกภาคส่วนในประเทศ ด้านกองทัพซูดานซึ่งก่อนหน้านั้นพยายามโน้มน้าวอย่างเปิดเผย ให้ฮัมด็อกกลับมาทำหน้าที่เดิมอีกครั้ง ยังไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการ

กระนั้น การเคลื่อนไหวของฮัมด็อกตลอดระยะเวลาที่อยู่ในอำนาจครั้งล่าสุด แม้นานเพียง 1 เดือนครึ่ง แต่ทำให้หลายฝ่ายเกิดคำถาม เนื่องจากมีการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง ให้กับบุคคลเดิมซึ่งเคยทำหน้าที่ ทั้งในยุครัฐบาลของประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาเชียร์ และในคณะมนตรีการปกครองของกองทัพ และจนถึงขณะนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนด้วยว่า การดำเนินการดังกล่าวของฮัมด็อก เป็นหนึ่งในเงื่อนไข หรือเป็นข้อแลกเปลี่ยนใดกับกองทัพหรือไม่

Al Jazeera English

เนื่องจากในเวลาเดียวกัน คณะรัฐประหารชุดปัจจุบันของซูดานทยอยปล่อยตัวอดีตรัฐมนตรีหลายคน ซึ่งถูกควบคุมตัวภายหลังการยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ปีที่แล้ว แม้การใช้ “มาตรการขั้นเด็ดขาด” กับมวลชนซึ่งออกมาเดินขบวนต่อต้านกองทัพ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม และมีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 60 ราย แต่ฝ่ายความมั่นคงของซูดานยังไม่เคยออกมาให้ความเห็นอย่างเป็นทางการ ต่อตัวเลขความสูญเสียที่เกิดขึ้น

เส้นทางของซูดานนับจากนี้เรียกได้ว่า “เดินอยู่บนเส้นด้าย” การที่ประเทศแห่งนี้เกิดการรัฐประหารบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคม เพื่อคุณภาพชีวิตของประชากรทั้ง 46 ล้านคน ก่อนหน้านั้น รัฐบาลของฮัมด็อกการันตีเงินช่วยเหลือมหาศาลจากสหรัฐ และองค์กรระหว่างประเทศของตะวันตกอีกหลายแห่ง ทว่าเมื่อเกิดการรัฐประหาร รัฐบาลวอชิงตันและพันธมิตรย่อมระงับความช่วยเหลือเหล่านั้นตามระเบียบ

นอกจากนี้ วิกฤติการเมืองครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นกับซูดานมีแนวโน้มสูง ว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงภูมิภาคใกล้เคียง ทั้งในซาเฮล หรือภูมิภาคทางตอนล่างของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา จะงอยแอฟริกาหรือภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือ และกลุ่มประเทศตะวันออกกลางตอนล่างแถบทะเลแดง ซึ่งบรรดามหาอำนาจต่างขั้วกำลังช่วงชิงอิทธิพลกัน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS