เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟชบุ๊ก “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” ของสถาบันวิชาการดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผยแพร่ข้อความเรื่องลุ้นระทึกโดยระบุว่า นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์น้อย 2022 EB5 ล่วงหน้าเพียง 2 ชั่วโมง ก่อนมันจะพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงประมาณ 3 เมตร คาดว่าเผาไหม้หมดไปในชั้นบรรยากาศ หรือหากตกลงสู่พื้นโลกก็จะเป็นบริเวณตอนเหนือของประเทศไอซ์แลนด์

คริสเตียน ซาร์เนซกี (Krisztián Sárneczky) นักดาราศาสตร์ชาวฮังการี ค้นพบดาวเคราะห์น้อย 2022 EB5 เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา ด้วยกล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวคอนโคลี (Konkoly Observatory) เขาพบว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้กำลังพุ่งมาที่โลก และจะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกในอีก 2 ชั่วโมง นับเป็นดาวเคราะห์น้อยดวงที่ 5 ที่สามารถตรวจจับได้ก่อนที่มันจะพุ่งเข้ามายังโลก

ดาวเคราะห์น้อย 2022 EB5 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เมตร กำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 18.5 กิโลเมตรต่อวินาที คาดว่าพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกในเวลา 04.22 น. ของวันที่ 12 มี.ค. ตามเวลาประเทศไทย ดาวเคราะห์น้อยจะเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก หากเผาไหม้ไม่หมดก็อาจจะพุ่งชนบริเวณตอนเหนือของประเทศไอซ์แลนด์ กลายเป็นอุกกาบาต ขณะนี้ หน่วยงานที่คอยจับตาดูการเกิดดาวตกอย่าง International Meteor Organization กำลังสืบหาหลักฐาน ถ้าหากดาวเคราะห์น้อยพุ่งเข้ามาตามทิศทางที่คำนวณไว้จริง น่าจะต้องมีประชาชนในประเทศไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ ที่พบเห็นลูกไฟ (Fireball) เคลื่อนผ่านบนท้องฟ้า หรือได้ยินเสียงคล้ายระเบิด

อย่างไรก็ดี พบเบาะแสที่อาจเป็นดาวเคราะห์น้อย 2022 EB5 จากประชาชนบริเวณดังกล่าวเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ยากที่จะยืนยันได้ว่าเป็นดาวเคราะห์น้อย 2022 EB5 หรือไม่ ซึ่งโดยปกติแล้ว ดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเพียงไม่กี่เมตร จะเสียดสีในชั้นบรรยากาศจนลุกไหม้ และเผาไหม้ไปจนหมดก่อนที่จะตกสู่พื้นโลก ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลต่อมนุษย์โลกมากนัก

ข้อมูลจาก สิทธิพร เดือนตะคุ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.