@@@@ เมื่อวันเสาร์ที่ 9 เมษายน 2565 สมาคม Thai Food Fair & entertainment Association Inc. ได้จัดงานเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2565 ขึ้นในนครแอดิเลด เพื่อให้คนไทยทุกคนที่อาศัยอยู่ใน South Australia ได้มีโอกาสสัมผัสกับเทศกาลและวัฒนธรรมไทย ให้หายคิดถึงบ้าน และเปิดโอกาสให้คนไทยได้ร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน รวมทั้งเชิญชวนชาวต่างชาติเข้าร่วมกิจกรรมด้วยงานเริ่มตั้งแต่ 8.30 น. และสิ้นสุดเวลา 21.00 น. เริ่มจากพิธีสงฆ์ เชิญชวนผู้เข้าร่วมงานทำบุญตักบาตร ถวายจัตตุปัจจัยตามสมควร ทางสมาคมฯ ได้นิมนต์พระสงฆ์ ทั้งหมด 12 รูป มาจากวัดไทยในแอดิเลดและต่างรัฐ โดยมี พระโสภณภาวนาวิเทศ หรือ หลวงพ่อกัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธโพธิวัน ประธานฝ่ายสงฆ์สมาคมสงฆ์ Victoria เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ การทำบุญครั้งนี้ถือว่าทำเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองแครอบครัว ต่อด้วยการประกอบพิธีสงฆ์เพื่อเป็นการให้ศีลให้พร

มีกิจกรรมการแสดงสนุกสนานหลายรายการ ทั้งบนเวทีและภาคสนาม เช่น การประกวดนางสงกรานต์ การแห่ขบวนนางสงกรานต์ นางสงกรานต์ปีนี้ ชื่อนาง กิริณีเทวี มือขวาถือของ้าว มือซ้ายถือปืน ทรงช้างเผือกเป็นพาหนะ จึงจัดขบวนแห่รับนางสงกรานต์เข้าสู่ปี พ.ศ. 2565 ตามธรรมเนียมโบราณ ไหว้ครูมวยไทย พิธีสรงน้ำพระพุทธรูป และพระภิกษุสงฆ์ พิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และแขกวืไอพี การแสดงดนตรี ทั้งร้องทั้งเต้น สไตล์ Modern หลากหลายรายการ รวมทั้งการเต้นแบบสนุกสนานที่ ลานเบียร์สิงห์ งานนี้เป็นการจัดงานกลางแจ้งเป็นครั้งที่ 2 ที่ Civic Park Modbury, 995 North East Road Modbury SA ฝั่งตรงกันข้ามกับ Westfield Tea Tree Plaza มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 7,000 คน โดยได้รับเกียรติจาก Hon. Zoe Bettison Minister for tourism & multicultural วุฒิสภาแห่งรัฐเซาท์ออสเตรเลีย Hon. Jing Lee Hon. Tung Ngo Robert Fraser นายกเทศมนตรีและรองของทั้งสองเขต นาย Kevin Knight Mayor of Tea Tree Gully นาย Gillian Aldridge Mayor of Salisbury นาย Lucas Jones Deputy Mayor of Tea Tree Gully นาย Chad Buchanan Deputy Mayor of Salisbury และกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยแห่งรัฐเซาท์ออสเตรเลีย นาง Mandy-Jane Giannopoulos

การดำเนินงานในครั้งนี้ ได้มีการตระเตรียมกันมานานหลายเดือนแล้ว มีการเลื่อนวันจัดงานหลายครั้ง เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ Covid และต้องประสานงานกับ Council เพื่อหาวันว่างให้เหมาะสม  รวมทั้งปัญหาอุปสรรคหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการจัดงาน การขนส่งอุปกรณ์การจัดงานจากเมืองไทยให้มาให้ทันเวลาการใช้งาน ล้วนแล้วแต่เป็นการทดสอบความอดทนของคณะทำงานทั้งสิ้น งานนี้ได้รับความชื่นชมจากผู้เข้าร่วมงาน บอกว่าจัดได้ดีกว่าครั้งที่ผ่านมา ทีมงานขอขอบคุณจิตอาสาซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างชาติ รวมทั้งสปอนเชอร์ทั้งหมดที่ทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

เมื่อวันเสาร์ที่ 9 เมษายน 2565 สมาคม Thai Food Fair & entertainment Association Inc. ได้จัดงานเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2565 ขึ้นในนครแอดิเลด เป็นการจัดงานกลางแจ้งเป็นครั้งที่ 2 ที่ Civic Park Modbury

มีกิจกรรมการแสดงสนุกสนานหลายรายการ ทั้งบนเวทีและภาคสนาม เช่น การประกวดนางสงกรานต์ การแห่ขบวนนางสงกรานต์ ไหว้ครูมวยไทย พิธีสรงน้ำพระพุทธรูป และพระภิกษุสงฆ์ พิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การแสดงนาฏศิลป์ การแสดงดนตรี ทั้งร้องทั้งเต้น

@@@@ รัฐบาลออสเตรเลียได้กำหนดให้แสดงข้อมูลการได้รับวัคซีนของผู้เดินทางในแบบฟอร์มดิจิทัล  Digital Passenger Declaration (DPD) โดยการดาวน์โหลดผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้ App Store (Apple) https://apps.apple.com/us/app/australia-dpd/id1590788781 Google Play store (Android) https://play.google.com/store/apps/details… เวปไซด์  DPD online form https://dpd.homeaffairs.gov.au/ ผู้โดยสารต้องแสดงหลักฐานว่าได้ให้ข้อมูลในแบบฟอร์มดิจิทัลเรียบร้อยแล้ว ผู้โดยสารที่ไม่ได้ทำการลงทะเบียนกรอกข้อมูลที่สำคัญนี้ก่อนทำการเช็คอิน อาจถูกตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพิทักษ์เขตแดนของประเทศออสเตรเลีย เมื่อได้เดินทางถึงจุดหมายและทำให้เกิดการล่าช้าได้ ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถอ่านได้จาก https://www.homeaffairs.gov.au/…/digital-passenger…

@@@@ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 นางหัทยา คูสกุล กงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ และนายชาลี กาญจนกุญชร รองกงสุลใหญ่ ได้เข้าพบหารือกับ Study NSW ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมให้นักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาในสถาบันการศึกษาในระดับต่าง ๆ ในรัฐ NSW โดย Study NSW มีบริการสนับสนุนข้อมูลให้แก่นักเรียนนักศึกษาต่างชาติ เพื่อให้ใช้ชีวิตใน NSW ได้อย่างมีความสุขและปลอดภัยในขณะที่กำลังศึกษาอยู่ โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ผ่านทางเว็บไซต์และ social media ปัจจุบันจำนวนนักเรียนไทยจัดอยู่ใน 5 ลำดับต้นของนักศึกษาต่างชาติในรัฐ NSW โดยส่วนมากศึกษาต่อในระดับอนุปริญญา และสาขาที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ ด้านบริหารธุรกิจ และด้านบริการ/อาหาร สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอสรุปบริการด้านต่าง ๆ ของ Study NSW ที่นักเรียนไทยสามารถใช้บริการได้ ดังนี้ 1. COVID-19 Help Hub – เพื่อช่วยเหลือนักเรียนต่างชาติสำหรับการเข้ารับวัคซีน (https://www.study.sydney/programs/covid-19-help-hub) 2. International Student Intake Support Service – ให้คำปรึกษาด้านต่าง ๆ เช่น สิทธิในการทำงาน สุขภาพจิต การเช่าบ้าน ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย สวัสดิภาพและความปลอดภัย เป็นต้น (https://www.scfintakesupport.org.au/) 3. International Student Health Hub – ให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพทางเพศ และการวางแผนครอบครัว (https://internationalstudents.health.nsw.gov.au/) 4. My Legal Mate – ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย (https://www.study.sydney/programs/my-legal-mate) ติดตาม Study NSW ได้ทางเว็บไซต์ https://www.study.sydney/#studynsw

นางหัทยา คูสกุล กงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ และนายชาลี กาญจนกุญชร รองกงสุลใหญ่ ได้เข้าพบหารือกับ Study NSW ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมให้นักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาในสถาบันการศึกษาในระดับต่าง ๆ ในรัฐ NSW เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565

@@@@ ผ่านไปเป็นระยะทางกว่า 900 กม. เป็นเวลากว่า 6 สัปดาห์ ที่คณะพระธุดงค์วัดสัมพันธวงศ์ จีลอง นำโดย เจ้าคุณเข่ง (กาเข่ง เขมโก) พร้อมพระลูกวัดและญาติโยม ได้ออกเดินเท้าจากวัดของท่านในรัฐวิคทอเรีย สู่จุดหมายปลายทางที่รัฐเซาท์ออสเตรเลียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคณะธุดงค์ที่มีสมาชิกร่วม 30 คน ได้ถือเอาวัดศรีลังกา Buddhist Vihara เป็นจุดเช็คอินสุดท้ายในวันที่ 3 เมษายน 2565 และได้เข้าพักที่วัดศรีรัตนวนาราม (วัดบนเขา) ก่อนแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนาของตนเอง เจ้าคุณเข่งได้กล่าวถึงการเดินธุดงค์ในปีนี้ของท่านว่า “ได้ผลมากกว่าที่คาด เดินได้ไกลกว่าที่คิด การเดินไกลเป็นการรบกับหัวใจของเจ้าของ เป็นการต่อสู้ภายใน เป็นขบวนการฝึกให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง” นอกจากนี้พระวิชชากโร หรือพระคริส แห่งวัดบนเขาที่ได้ร่วมเดินธุดงค์ด้วยกล่าวว่า “ไม่เคยเห็นการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในรูปแบบธุดงค์ในประเทศออสเตรเลียมาก่อน จึงเป็นโอกาสที่ดี มักมีคำถามจากชาวต่างชาติที่มาพบกับคณะว่า ทำไปทำไม ก็ตอบไปสั้น ๆ ว่า เพื่อฝึกใจตนเอง ฝึกพิจารณาอาการที่เกิดขึ้นที่จิตขณะร่างกายลำบาก มัวแต่คิดถึงปลายทางมาก ๆ ก็ไม่ถึงซะที คิดถึงแต่พุทโธ สุดท้ายก็ถึงเป้าหมายเอง”

ในระหว่างทางมีชาวคณะญาติโยมหลายคนได้รับบาดเจ็บ มีคนข้อเท้าพลิก ข้อมือเคล็ด บ้างก็มีแผลพุพองที่เท้า แต่ชาวคณะก็ไม่ได้ย่อท้อ มีชายเชื้อสายจีนผู้หนึ่งที่แม้จะอยู่ในวัย 70 ปีและผ่านการทำบายพาสหัวใจมาแล้ว ก็ยังได้ร่วมเดินจนจบ คุณตั้มตัวแทนชาวไทยที่ได้ร่วมเดินด้วยได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ตนเข้าร่วมกิจกรรมเพราะมีความศรัทธาในครูบาอาจารย์ ประกอบกับเห็นผลจากการร่วมเดินธุดงค์ครั้งแรกในปี 2564 จึงมาร่วมกิจกรรมอีกครั้งด้วยเป็นโอกาสที่หายาก รู้สึกซาบซึ้งในความเมตตาของพระอาจารย์เข่งที่ได้นำญาติโยมจีลองให้ได้ปฏิบัติ ตนเคยแต่อ่านมา ศึกษามา แต่เป็นครั้งแรกที่ได้ลงมือทำ จึงถือว่าเป็นการปิดฉากลงอย่างสวยงามของกิจกรรมที่ก่อให้เกิดทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ส่วนในครั้งต่อ ๆ ไปจะมีอีกหรือไม่ คงต้องติดตามข่าวกันในปีต่อไป สนใจติดตามข่าวสารของวัดสัมพันธ์วงศ์ จีลอง ได้ที่เฟสบุ๊คของวัด https://www.facebook.com/watsamphanthawonggeelongofficial/

คณะพระธุดงค์วัดสัมพันธวงศ์ จีลอง ที่มีสมาชิกร่วม 30 คน นำโดย เจ้าคุณเข่ง (กาเข่ง เขมโก) พร้อมพระลูกวัดและญาติโยม ได้ออกเดินเท้าจากวัดสัมพันธวงศ์ สู่จุดหมายปลายทางที่วัดศรีลังกา รัฐเซาท์ออสเตรเลียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2565

@@@@ เปิดรับสมัครแล้ว เรียนฟรี หลักสูตรประกาศนียบัตร “การดูแลผู้สูงอายุ สำหรับชุมชนคนไทยในซิดนีย์” สำหรับ PR, Citizen

หากคุณกำลังคิดที่จะเปลี่ยนงาน หรือสนใจในสายอาชีพการดูแลผู้สูงอายุ ตอนนี้โอกาสดีๆ มีมาแล้ว สวัสดิภาพสมาคม ร่วมกับทางสถาบันชาเตอร์ ออสเตรเลีย เปิดสอนหลักสูตร การดูแลผู้สูงอายุ Certificate lll Individual Support เป็นครั้งที่ 3 และแน่นอนคลาสนี้จัดขึ้นสำหรับกลุ่มคนไทยโดยเฉพาะ คลิ๊กลิ้งค์นี้เพื่อลงทะเบียนเรียน https://www.charter.edu.au/courses/twa/ หากคุณยังไม่มั่นใจในเรื่องภาษาอังกฤษ ทางสถาบันชาเตอร์ มีหลักสูตรเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ (Foundational Skills) ให้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ คุณกรรณิกา (แอล) Email: [email protected] Tel. (02) 9264 3166 หากไม่รับสายกรุณาฝากชื่อ และเบอร์โทรกลับ หรือติดต่อคุณเฮา (เจ้าหน้าที่ดูแล ช่วยเหลือนักเรียนของสถาบันชาเตอร์) ที่เบอร์ 0493 133 559 (02) 9955 5881 เพื่อขอความช่วยเหลือในการลงทะเบียนเรียน

@@@@ ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยิ่งมงกุฎไทย ชั้นตริตาภรณ์มงกุฎไทย ให้แก่ พันโท เจ.พี. ซอลเตอร์ (Lieutenant Colonel J.P. Salter, MC (Retd))  พระอาจารย์และพระสหายที่ทำหน้าที่ถวายการสอนและถวายงานดูแลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดระยะเวลาที่ทรงศึกษา ณ วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา เครือรัฐออสเตรเลีย

ในการนี้ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์ราได้จัดพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยิ่งมงกุฎไทย ชั้นตริตาภรณ์มงกุฎไทย ให้แก่ พันโท เจ.พี. ซอลเตอร์ ณ อาคารศาลาไทย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา โดยมีนางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา เป็นประธานในพิธีฯ โดยมีผู้เข้าร่วมพิธีฯ ประกอบด้วยภริยาพันโท เจ.พี. ซอลเตอร์ และแขกผู้มีเกียรติ รวมทั้งหัวหน้าสำนักงานทีมประเทศไทย และข้าราชการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยิ่งมงกุฎไทย ชั้นตริตาภรณ์มงกุฎไทย ให้แก่ พันโท เจ.พี. ซอลเตอร์ (Lieutenant Colonel J.P. Salter, MC (Retd))  พระอาจารย์และพระสหาย

@@@@ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2565 นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา ได้ร่วมพิธีเปิดโครงการสอนภาษาและวัฒนธรรมไทยของสมาคมออสเตรเลีย-ไทย แคนเบอร์รา และได้กล่าวเปิดโครงการฯ ณ วัดธัมมธโร โดยมีพระราชสีลาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดธัมมธโรเป็นประธานในพิธี และมีนางนาฏสุดา พิตต์แมน ประธานสมาคมฯ พร้อมคณะกรรมการเข้าร่วมด้วย

โครงการสอนภาษาและวัฒนธรรมไทยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา โดยมีอาจารย์จินตนา แซนดิแลนด์เป็นผู้สอน รวม 22 สัปดาห์ เน้นการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมไทย เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างคนไทยกับคนออสเตรเลีย ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในระดับประชาชน นอกจากนี้ เป็นโอกาสดีที่โครงการดังกล่าวได้เริ่มต้นขึ้นในปีนี้ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับออสเตรเลีย และการเปิดประเทศระหว่างกัน

นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา ได้ร่วมพิธีเปิดโครงการสอนภาษาและวัฒนธรรมไทยของสมาคมออสเตรเลีย-ไทย แคนเบอร์รา ณ วัดธัมมธโร โดยมีพระราชสีลาภรณ์ เจ้าอาวาส เป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2565

@@@@ ฉบับนี้เดลินิวส์พาไปเยี่ยมร้านอาหารไทยเก่าแก่อีกร้านหนึ่งของนครแอดิเลด ร้านรีเจ้นท์ไทย Regent Thai Restaurant เปิดมานานถึง 22 ปีแล้ว ย่าน North Adelaide ร้านมีที่นั่ง 80 ที่นั่ง สนม งามละมัย เจ้าของร้านและเจ้าของสูตรอาหารทั้งหมด เล่าว่า “อาหารของที่ร้านรสชาติแบบคนไทย แน่นอนประชากรที่แอดิเลดมีไม่มาก เมื่อ 22 ปีที่แล้ว ร้านอาหารไทยก็มีไม่มาก ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นฝรั่ง คนไทยตอนนั้นก็ยิ่งน้อยมากและคนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ออกมาทานอาหารไทยเพราะจะทำทานที่บ้าน ตอนเปิดร้านใหม่ใหม่ จำได้ทั้งวันมีลูกค้าแค่สองคน แต่เราทำงานกันแค่สามถึงสี่คนเท่านั้น ในตอนนั้นถ้าเป็นศุกร์เสาร์ก็จะมี 4 คน ถ้าเป็นวันธรรมดาก็ทำกันสามคน เรากับสามีและแม่ครัวอีกคนหนึ่ง ใช้เวลานานเหมือนกันกว่าจะเป็นที่นิยม พวกเราทำงานกันเจ็ดวันไม่มีวันหยุด กว่าร้านจะอยู่ตัวก็เป็นปีร้านเริ่มเป็นที่รู้จักและเริ่มมีลูกค้าประจำจนถึงทุกวันนี้”  ถามเธอถึงอาหารที่ขึ้นชื่อของร้าน เมนูอาหารลูกค้าชื่นชอบและขายดีมาเป็นเวลายาวนาน เธอบอก “ก็เหมือนร้านอาหารไทยทั่วๆไป คือ ผัดไทย ฉู่ฉึ่กุ้ง ยำทะเล ต้มยำกุ้ง ผัดคะน้าหมูกรอบ อยู่ในสเปเชียลเมนูค่ะ แล้วเรายังมีแซลมอนกรอบกับกรีนแอพเปิลสลัดด้วยขึ้นชื่อเหมือนกัน แกงที่ร้านก็ขายดีอย่าง แกงมัสมั่นเนื้อ แกงเขียวหวานไก่ แกงเผ็ดเป็ดย่าง สามี คุณ Te เขาเคยเปิดร้านอาหารมาก่อนและพี่น้องของเขาก็มีร้านอาหารกันทุกคน เราก็เลยคลุกคลีอยู่แต่กับร้านอาหาร ตัวเราเองตอนมาเรียนก็ทำงานไปด้วยทั้งงานในครัวและเสิร์ฟอาหาร จนมาตัดสินใจเปิดร้านเองในปี ค.ศ. 2000 เลยกลายเป็นอาชีพติดตัวมาจนถึงเดี๋ยวนี้”  ให้เธอเล่าถึงความเป็นมาก่อนจะมาเป็น Restaurateur อันดับต้นๆ เธอเล่าว่า “คงเหมือนๆกับร้านอื่นๆมังคะ เริ่มต้นจาการทำงานช่วยในครัวและเสริฟอาหาร ชีวิตไม่โหดเหมือนคุณ Te สามีที่เป็นคนกัมพูชา เขาเป็นเขมรอพยพ พอมาตั้งตัวได้เขาก็เขียนเรื่องจากชีวิตจริงของเขา ชื่อ Refugee To Restaurateur จนเป็นหนังสือ best seller ของที่นี่ สนมเป็นคนอยุธยา อำเภอลาดบัวหลวง จบปริญญาตรี ศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เอก พละ จบมาไปทำงานที่ Shangri-La Hotel แผนก Health club อยู่ 3-4 ปี ในปี ค.ศ. 1989 คุยกับรุ่นน้องที่ทำงานด้วยกันอีกสองคนก็ตัดสินใจมาออสเตรเลียเพื่อมาเรียนภาษาเพิ่มเติม และก็เรียนท่องเที่ยวเพิ่มอีกหนึ่งปี คิดว่าถ้ากลับไปเมืองไทยก็จะไปทำงานด้านการท่องเที่ยว ระหว่างเรียนก็ทำงานร้านอาหารเสริม จบแล้วก็ไม่ได้กลับ พบคุณ Te เขาก่อนเพราะเขาปิดกิจการร้านอาหารของเขา แล้วมาช่วยพี่สาวแต่เป็นร้านเขมรมีชื่อในเมืองซึ่งเราทำงานอยู่ด้วย  พอแต่งงานมีครอบครัวอยู่ที่นี่ แล้วเราก็ไม่ได้กลับเมืองไทย ทำงานกับพี่สาวเขาไปอีกระยะหนึ่ง พอปี 2000 ก็ออกมาเปิดกิจการเป็นของตัวเอง มีพี่ที่เป็นเชฟมาช่วยด้วย 3 คน ก็ชิมเอารสชาติที่เราชอบที่คิดว่า อาหารไทยต้องรสชาตินี้ แขกมากินจากที่ไกลๆ บอกฉันหารสชาติแบบที่กินเมืองไทยเพิ่งเจอ ก็กลายมาเป็นแขกประจำ ตอนนี้ที่ทานๆก็มีแต่ขาประจำที่ไม่ยอมไปไหน กินกันจนแก่กันไปข้างหนึ่ง ร้านอาหารเป็นธุรกิจที่ต้องทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ งานหนัก เราสองคนสามีภรรยา ทำงานกัน 7 วัน ไม่ได้หยุดมากว่า 20 ปีแล้วคะ ใครจะไปไหน ก็ผลัดกันไป ต้องมึคนหนึ่งอยู่โยง ถามว่าพอใจมั้ยที่มาถึงจุดนี้ ต้องบอกพอใจสิคะ เราสามารถเกื้อกูลทางบ้านได้ทุกอย่างที่ทางเมืองไทยต้องการ อยู่เมืองไทยก็คงจะสนับสนุนครอบครัวได้ยาก ถ้าจะฝากถึงสาวๆหนุ่มๆที่อยากจะมาเดินทางสายนี้ ก็ต้องบอก ต้องอาศัยความอดทน ความขยัน ที่สำคัญคือ ใส่ใจในอาชีพ ที่ไปไหนกันไม่ได้นี่ เพราะเราควบคุมคุณภาพอาหารที่ออกไป ต้องระวังรักษาระดับให้ได้สม่ำเสมอคะ” Regent Thai Restaurant ตั้งอยู่ที่ 165 O’Connell Street, North Adelaide. Phone number 8239 0927

สนม งามละมัย และ Thao Te เจ้าของร้านและเจ้าของสูตรอาหารทั้งหมดของ ร้านรีเจ้นท์ไทย Regent Thai Restaurant ร้านอาหารไทยเก่าแก่อีกร้านหนึ่งของนครแอดิเลด ที่เปิดมานานถึง 22 ปีแล้ว ย่าน North Adelaide ร้านมีที่นั่ง 80 ที่นั่ง

บรรยากาศภายในร้าน เมนูขี้นชื่อของร้าน อาทิ ผัดไทย ฉู่ฉึ่กุ้ง ยำทะเล ต้มยำกุ้ง ผัดคะน้าหมูกรอบ แซลมอนกรอบกับกรีนแอพเปิลสลัด แกงมัสมั่นเนื้อ แกงเขียวหวานไก่ แกงเผ็ดเป็ดย่าง เป็นต้น

ไตรภพ ซิดนีย์
[email protected]