นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเฟ้นหาบุคคลรับตำแหน่งผู้นำประเทศคนที่ 17 ต่อจากประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ซึ่งกำลังจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ในวันที่ 30 มิ.ย. นี้ และไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก ด้วยเงื่อนไขตามที่ระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญ

Reuters

ทั้งนี้ มาร์กอส จูเนียร์ ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนอย่างถล่มทลายมากกว่า 31 ล้านเสียง สร้างประวัติศาสตร์ เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีคนแรก ซึ่งได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนมากกว่า 50% ของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ นับตั้งแต่ชัยชนะของมาร์กอสผู้พ่อ เมื่อปี 2508 และนำฟิลิปปินส์เตรียมกลับไปอยู่ภายใต้การบริหารประเทศของตระกูลมาร์กอส เป็นครั้งแรกในรอบ 36 ปี หรือนับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติประชาชน ขับไล่ตระกูลมาร์กอส เมื่อปี 2529

นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส และนางอิเมลดา มาร์กอส เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของฟิลิปปินส์

มาร์กอส จูเนียร์ วิงวอนชาวฟิลิปปินส์ร่วมกันมองไปข้างหน้า ตัดสินตัวเขาจากการกระทำนับจากนี้ ซึ่งจะเน้นเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวฟิลิปปินส์ทุกคน ไม่ใช่สิ่งที่บรรพบุรุษของเขาเคยปฏิบัติและจบสิ้นไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการประกาศใช้กฎอัยการศึก การใช้อำนาจนอกกฎหมายเพื่อจับกุม การคุมขัง และการทรมาน ตลอดจนการที่เงินคงคลังของประเทศจำนวนมหาศาลหายไปพร้อมกับตระกูลมาร์กอส ซึ่งเดินทางออกไปลี้ภัยในสหรัฐหลังการลุกฮือของประชาชน และจนถึงปัจจุบัน หน่วยงานเฉพาะกิจของรัฐบาลฟิลิปปินส์ยังติดตามเงินที่หายไปกลับคืนมาได้ไม่ครบ

แน่นอนว่าความทรงจำดังกล่าวของชาวฟิลิปปินส์ที่มีต่อตระกูลมาร์กอสยังไม่เคยจางหายไป อย่างไรก็ตา ม สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เพิ่งผ่านพ้น อาจเรียกได้ว่า “เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้น” เนื่องจากสถิติผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนตามข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ ระบุว่า มากกว่า 50% มีอายุ 18-41 ปี ซึ่งยังไม่เกิด หรือมีอายุน้อยมากจนแทบไม่สามารถจดจำเรื่องราวในเวลานั้นได้ ขณะที่มาร์กอส จูเนียร์ หรือ “บองบอง” มีอายุ 15 ปี เมื่อมาร์กอสผู้พ่อประกาศกฎอัยการศึก เมื่อปี 2515

มาร์กอส จูเนียร์ ไม่ใช่หน้าใหม่ในแวดวงการเมืองของฟิลิปปินส์ เคยดำรงตำแหน่งทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รองผู้ว่าราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด และตำแหน่งสุดท้ายก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี คือ วุฒิสมาชิก

Reuters

มาร์กอส จูเนียร์ หาเสียงด้วยสโลแกนว่า “รวมกันเราจะยิ่งใหญ่อีกครั้ง” คล้ายกับมาร์กอสผู้พ่อ ซึ่งหาเสียงโดยใช้สโลแกนว่า “ทำให้ฟิลิปปินส์กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” อย่างไรก็ตาม มาร์กอส จูเนียร์ แตกต่างจากบิดา เนื่องจากเจ้าตัวพยายามเก็บตัว ไม่ปรากฏตัวบนสื่อกระแสหลักมากนัก แต่เน้นใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ และเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวจากทั้งหมด 10 คน ที่ไม่เข้าร่วมการประชันวิสัยทัศน์ 2 ครั้ง ที่จัดโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม มาร์กอส จูเนียร์ แทบไม่เคยเสนอนโยบายชัดเจนมากนัก นอกเหนือจากการประกาศให้ สถานการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจ พลังงาน สังคม และการปฏิรูปศึกษา เป็นวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลของตัวเองจะเร่งดำเนินการ

นักศึกษาฟิลิปปินส์รวมตัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในกรุงมะนิลา แสดงจุดยืนไม่ยอมรับนายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์

เกี่ยวกับนโยบายด้านการต่างประเทศ มาร์กอส จูเนียร์ กล่าวว่า ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มี “ความสัมพันธ์พิเศษ” กับสหรัฐ ส่วนท่าทีที่มีต่อจีนยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่การที่เจ้าตัวยืนยันการรับฟังความเห็นและความกังวลของชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งจำนวนไม่น้อยยังคงมีความวิตกกังวลต่อความขัดแย้งกับรัฐบาลปักกิ่งในเรื่องทะเลจีนใต้ การแสดงออกของมาร์กอส จูเนียร์ ในเรื่องนี้ อาจแข็งกร้าวมากขึ้น

ภายในระยะเวลาอีก 6 ปีนับจากนี้ ฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้การบริหารของผู้นำ “จากตระกูลการเมืองเดิม” การเดินทางของประเทศแห่งนี้จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ตามที่มาร์กอสรุ่นลูกกล่าวไว้หรือไม่ การให้เพียงคำมั่นแน่นอนว่าพิสูจน์ไม่ได้ การลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังต่างหาก ที่สำคัญมากกว่า.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES