โดยมี “ทฤษฎี” หนึ่งที่ก่อนหน้านี้มีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจให้ความสนใจ นั่นคือแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวเป็น “K-Shape” แบบ “หางชี้ขึ้น หรือหางชี้ลง” ซึ่งก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป??… อย่างไรก็ตาม กับ “ทฤษฎี K-Shape” นั้น…ก็ใช่จะมีแต่มุมเศรษฐกิจ หากแต่ยังถูกนำมาใช้กับ “แนวโน้มการศึกษาไทยปี 2565” อีกด้วย เพื่อจะสะท้อนภาพ “ทิศทาง” ในเรื่องนี้ ซึ่งกับ “K-Shape ทางการศึกษา” นี่วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์”  มีข้อมูลมาสะท้อนต่อ…

“ภาวะ K-Shape การศึกษาไทย” จะเป็นอย่างไร??

จะปรับตัวเช่นไร?…จะแบบ “หางชี้ขึ้น?-หางชี้ลง?”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ได้มีการวิเคราะห์และสะท้อนไว้ผ่านบทความใน เว็บไซต์กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยได้ระบุไว้ว่า… ทิศทางการศึกษาปี 2565 น่าจะไม่ต่างจากปี 2564 โดยทุกประเทศทั่วโลกนั้นต่างก็เผชิญปัญหาจากการเรียนออนไลน์ เหมือนกันทั่วโลก นั่นคือ… เด็กและเยาวชนต้องเผชิญปัญหาความรู้ถดถอย (Learning Loss) โดยเด็กที่ได้รับผลกระทบสูงสุดของทุก ๆ ประเทศ ยังเป็นกลุ่มเด็กที่ยากจน กลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง ชนกลุ่มน้อย และกลุ่มเด็กเล็ก

นี่เป็นสถานการณ์ปัญหาด้านการศึกษาที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ที่เกิดจาก “การเรียนรู้ที่ไม่ปกติในช่วงที่มีโควิด-19”

สำหรับภาวะ “K-Shape ในวงการศึกษา” นั้น กรณีนี้ทาง ดร.ภูมิศรัณย์ ได้อธิบายผ่านทางบทความไว้ว่า… คือการที่เด็กบางกลุ่มสามารถปรับตัวไปได้เร็ว ขณะที่เด็กบางกลุ่มจะไปได้ช้า โดยเด็กกลุ่มที่สามารถปรับตัวไปได้เร็วคือเด็กที่มีความพร้อมในเรื่องการเรียนออนไลน์ เช่น มีอุปกรณ์เพียงพอ มีอินเทอร์เน็ต ครูมีศักยภาพในการสอนออนไลน์ โดยเด็กกลุ่มนี้จะสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ดีมาก ขณะที่เด็กอีกกลุ่มซึ่งไม่ได้มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ฐานะยากจน หรือชีวิตได้รับผลกระทบจากโควิด เช่น พ่อแม่ตกงาน พ่อแม่เสียชีวิตจากโควิด เป็นเด็กที่จะปรับตัวได้ช้ามากกว่าเด็กกลุ่มแรก เนื่องเพราะขาดความพร้อม

“ปัญหานี้เกิดขึ้นกับการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ทั่วโลก ไม่เฉพาะแค่ประเทศไทย ทำให้นักการศึกษาทั่วโลกนั้นจึงต้องระวังภาวะ K-Shaped Recovery ที่จะเกิดขึ้นในวงการศึกษา เพราะจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างมากขึ้น จากเดิมที่ก็มากอยู่แล้ว”  …ดร.ภูมิศรัณย์ สะท้อนไว้ถึง “K-Shapeแบบที่น่าห่วง” ที่จำเป็นต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ใกล้ชิด…

และเพื่อไม่ให้ “การศึกษาของเด็กไทย” บางกลุ่มเป็นแบบ “ตัว K หางยิ่งชี้ลง” ก็ได้มีการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาไว้ว่า… มี “คีย์เวิร์ด” อยู่ที่ “บุคลากรครู” ที่จะช่วย ทำให้ช่องว่างหดแคบลง โดย ครูถือเป็นหัวใจหลักในการช่วยฟื้นฟูเด็ก ซึ่งในยุคหลังโควิด-19 นั้นสิ่งที่คุณครูจะต้องมีเพิ่มขึ้นก็คือ ความสามารถในการประเมินเด็ก (Formative Assessment) เพื่อที่จะรู้ว่าเด็กขาดความรู้ไปแค่ไหน? หรือรู้ว่าเด็กคนไหนมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร? …รักษาการ ผอ.วสศ. ระบุไว้ในบทความดังกล่าว

จากการบ้านนักเรียน…กรณีนี้เป็น “การบ้านของครู”

พร้อมกันนี้ได้มีการคาดการณ์ “แนวโน้มการศึกษาปี 2565” ไว้ว่า… เทรนด์การศึกษาทางเลือกจะได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในช่วงที่เด็ก ๆ ต้องเรียนออนไลน์หรือเรียนที่บ้านทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองมองเห็นความสำคัญของ “Home School” มากขึ้น สะท้อนได้จากการที่แม้แต่โรงเรียนนานาชาติก็มีเด็กที่ออกมาเรียนแบบ Home School กันมาก เนื่องจากรู้สึกไม่คุ้มค่าที่จ่ายค่าเทอมแพง ๆ แล้วต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจจากปรากฏการณ์นี้ก็คือ “รัฐบาลจะเข้าช่วยเหลือผู้ปกครองหรือเด็กกลุ่มนี้อย่างไร??” เพราะเดิมทีรัฐจะโฟกัสเฉพาะเด็กในระบบการศึกษา …นี่เป็น “อีกโจทย์ท้าทาย” วงการศึกษาไทย

หลังจาก “รูปแบบการศึกษาเปลี่ยนไปในยุคโควิด”

อย่างไรก็ตาม ดร.ภูมิศรัณย์ รักษาการ ผอ.วสศ. ก็ได้เสนอแนะ “ทางเลือก” เพื่อ ลดผลกระทบด้านการศึกษา ที่เกิดขึ้น ไว้ว่า… ไทยควรสนับสนุนให้ระบบการศึกษาเกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยข้อดีที่เห็นได้ชัดเจนช่วงโควิด-19 ระบาด คือ… รัฐมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการสนับสนุนให้นำนวัตกรรมมาใช้ช่วยเหลือเด็ก จนทำให้แต่ละพื้นที่พยายามค้นหานวัตกรรมมาใช้

“ข้อดีที่เห็นได้ชัดช่วงโควิด-19 คือ ครูและโรงเรียนพยายามหาวิธีการที่สร้างสรรค์มาใช้เพื่อช่วยเหลือเด็ก อาทิ คิดค้นกระบวนการติดตามเด็ก เช่น โทรศัพท์ไปตามหรือไปหาเด็กถึงบ้าน หรือแม้แต่ครูที่สอนออนไลน์ ก็พยายามสร้างสรรค์วิธีการสอนเพื่อดึงดูดเด็ก ๆ ให้สนใจการเรียน” …ดร.ภูมิศรัณย์ ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนช่วงเรียนออนไลน์

ทั้งนี้ทั้งนั้น ทาง ดร.ภูมิศรัณย์ ได้ย้ำทิ้งท้ายเอาไว้ในบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ กสศ. โดยระบุไว้ว่า… ส่วนตัวนั้นมองว่า “การฟื้นฟูความรู้” น่าจะเป็น “วาระหลักที่สำคัญของการศึกษาไทยปี 2565” หลังจากเกิดภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอยไปในช่วงที่ผ่านมา ที่เป็นผลพวงจากโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น โดยอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันก็ได้ แต่ให้ปรับตามความเหมาะสม ตามบริบทของพื้นที่ สิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน เป็นหลัก เพื่อที่จะ “บีบช่องว่าง” ที่เกิดขึ้น

“K-Shape ทางการศึกษา” ไทย “มีทั้งหางชี้ขึ้น-ชี้ลง”

ภาวะนี้ทำให้ “ความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่างกว้างมากขึ้น”

นี่เป็น “โจทย์สำคัญ” ที่ “ทุกฝ่ายต้องร่วมเร่งแก้!!”.