ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของชาวบ้านในละแวกพื้นที่เกิดเหตุ ที่ระบุว่า ถนนเส้นนี้ “มืดมาก” เพราะ “ไฟส่องสว่างดับ” โดยร้องไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วแต่ก็ยังไม่มีการแก้ไขปัญหา จนที่สุดก็เกิดเหตุสลด-เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง

ทั้งนี้ ว่าด้วย “อันตรายที่เกิดจากถนนไม่ได้มาตรฐาน” ก่อนหน้านี้อุบัติเหตุจากปัญหานี้ในไทย เกิดอยู่เนือง ๆ แม้แต่ในกรุงเทพฯ เมืองหลวง อย่าง “อุบัติเหตุรถชน-รถพลิกคว่ำ..เพราะปัญหาเกี่ยวกับทางโค้งของถนน” ในบางพื้นที่ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตไปแล้วไม่น้อย ที่แม้จะมีการพยายามแก้ปัญหา…แต่อุบัติเหตุก็ยังเกิด!! ขณะที่เรื่องนี้ก็เคยมีผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนนคือ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ได้สะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ ซึ่งถึงวันนี้ก็ยังน่าสนใจ…

“ภัยผู้ใช้รถ-ผู้ใช้ถนน” กรณีนี้เกี่ยวกับหลายปัจจัย

โดย “สาเหตุนั้น…มีทั้งปัจจัยหลัก และปัจจัยร่วม”

ที่ “ทำให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ”

พลิกแฟ้มพิจารณากันอีกครั้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง นพ.ธนะพงศ์ ในฐานะ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้เคยสะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ว่า… อุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดขึ้นนั้นส่วนใหญ่แล้วคนจะมองว่า… เกิดจาก “พฤติกรรมขับขี่” เป็นสาเหตุสำคัญ ทั้งเรื่องการ ไม่เคารพกฎจราจร เมาแล้วขับ ขับรถด้วยความเร็ว ประมาทเลินเล่อ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า… คนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม…แต่ การเกิด “อุบัติเหตุทางถนน” หลาย ๆ ครั้งก็ยัง “มีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาร่วมด้วย” โดยที่เรื่องของ “กายภาพถนน” นั้นก็ “ไม่ควรมองข้าม!!”

นี่ก็เป็น “จำเลยร่วมก่อความไม่ปลอดภัยทางถนน”

ทางผู้สันทัดกรณีท่านเดิมยังสะท้อนถึงเรื่องนี้ไว้ต่อไปว่า… สภาพถนนในประเทศไทยถือเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้สูงถึงกว่า 28% หรือประมาณ 1 ใน 4 ของสาเหตุที่ทำให้มีการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ในยุคปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะที่มีปัจจัยร่วมดังกล่าวนี้ ถ้าเป็นกรณี ในต่างประเทศ ที่พบสาเหตุว่า… “เกิดจากความบกพร่องของถนน” ในหลาย ๆ ประเทศ “ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องได้ยกพวง…ตั้งแต่ผู้รับเหมา-ผู้คุมงาน-ผู้ตรวจรับงาน” เพราะถือว่า “เป็นความรับผิดชอบโดยตรง” แต่การฟ้องร้องในลักษณะนี้ เมื่อเทียบกับในต่างประเทศแล้วนั้น…

ในประเทศไทยมีการฟ้องร้องแบบนี้น้อยมาก!!

สำหรับสาเหตุที่ในไทยมีคดีลักษณะนี้น้อยมากนั้น ทางผู้สันทัดกรณีท่านเดิมสะท้อนไว้ว่า… ในประเทศไทยนั้น เวลาที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นส่วนใหญ่ก็ “มักจะโทษเฉพาะผู้ขับขี่” เช่นเพราะประมาทส่งผลทำให้ “ปัจจัยร่วมอื่น ๆ” ซึ่งอาจมีส่วนในการทำให้เกิดอุบัติเหตุ “มักจะถูกสังคมมองข้ามไป” จนทำให้ ไม่ค่อยมีการตรวจสอบหรือไม่เกิดกระบวนการสืบสวนหาข้อเท็จจริงที่อาจเป็น “เบื้องหลังอุบัติเหตุที่แท้จริง” ซึ่งในประเทศไทยควรต้อง “ทบทวนวิธีคิดใหม่” เกี่ยวกับเรื่องนี้…

“ในไทยไม่ค่อยมีการวิเคราะห์อุบัติเหตุแบบลงลึกด้วยการนำหลักวิชาการและเทคโนโลยีมาใช้พิสูจน์ รวมถึงการนำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมตรวจสอบอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด ทำให้บางทีเรื่องก็เงียบหายไป โดยที่สังคมเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแท้ที่จริงอุบัติเหตุนั้นเกิดจากคนหรือสภาพถนนกันแน่???” …เป็น “ข้อสังเกต” ที่ นพ.ธนะพงศ์ เคยระบุไว้

และผลจากการที่ไม่ได้มีการพิสูจน์แบบลงลึก ทางผู้สันทัดกรณีท่านนี้มองว่า… ทำให้ ปัญหาที่มีอยู่แต่เดิมไม่ได้รับการปรับปรุงหรือแก้ไขให้ดีขึ้น จนทำให้ ถนนบางเส้นมักจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นซ้ำ ๆ อยู่เป็นประจำ เพราะสาเหตุได้ถูกยกให้เป็น “เพราะคน” ไม่ใช่เพราะถนน ทั้ง ๆ ที่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า… “กายภาพถนน-มาตรฐานถนน” ก็เป็น “ปัจจัยสำคัญเช่นกัน” โดยในไทยนั้นพบได้ทั้ง… ถนนหลวง ถนนเมือง ถนนท้องถิ่น ที่ต่างก็เจอกับปัญหาดังกล่าวนี้ได้ทั้งสิ้น…

“ถนนที่เกิดปัญหา ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง มีผู้รับเหมาหลายเจ้า ประกอบกับอาจขาดคุณภาพและมาตรฐานการก่อสร้าง ทำให้ถนนที่ก่อสร้างนั้นมีปัญหา แม้แต่กับถนนที่เพิ่งทำเสร็จไม่นาน”…ผู้สันทัดกรณีท่านเดิมระบุไว้

พร้อมชี้ไว้ถึง อีกประเด็นหนึ่งที่พบบ่อย ๆ ในระยะหลัง ๆ นั่นก็คือ จากการที่ถนนบางเส้นมีการก่อสร้างซ่อมแซมไม่สิ้นสุด?? ซึ่งอาจเกิดจากการ “ขาดการวางแผน” โดยประเด็นนี้ นพ.ธนะพงศ์ ระบุไว้ว่า… ที่จริงการก่อสร้างถนนของหน่วยงานต่าง ๆ นั้น ต่างก็มีกรอบมาตรฐานการก่อสร้างอยู่ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับต่างประเทศ แต่ที่ทำให้มี “ปุจฉา??” ก็คือ… หากใช้มาตรฐานเดียวกัน เหตุใดยังมีส่วนที่เกิดปัญหานี้ขึ้นบ่อย ๆ ซึ่งอาจจำเป็นต้อง “ทบทวนมาตรการ” เกี่ยวกับเรื่องนี้…

“ยิ่งมีปัญหายิ่งต้องหาสาเหตุว่าเกิดขึ้นจากปัจจัยใด?? ยิ่งต้องหันมาทบทวนการควบคุมมาตรฐานการก่อสร้างถนนกัน ทั้งนี้เพื่อที่จะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นในยามที่ต้องใช้ชีวิตบนท้องถนน” …เป็น “ข้อเสนอเพื่อลดปัญหา” ที่ทางผู้จัดการ ศวปถ. เคยเสนอแนะไว้ …แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่ค่อยชัดเจนนักกับการ “ป้องกันเกิดอุบัติเหตุเพราะถนน”

“อุบัติเหตุทางถนนเพราะถนน” ในไทย “ยังเกิดบ่อย”

“ผู้ใช้รถ-ผู้ใช้ถนน” จำนวนไม่น้อย “ตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ”

ใช้รถ-ใช้ถนน…โดย “ต้องลุ้นว่าจะไม่ดวงตก??” .