เมื่อกลุ่มฮามาสปกครองฉนวนกาซา อิสราเอลได้เริ่มการปิดล้อมพื้นที่ เมื่อเดือน มิ.ย. 2550 และออกมาตรการจำกัด ไม่ว่าจะเป็นสินค้า เชื้อเพลิง และบริการพื้นฐาน ตลอดจนการกระชับการเดินทางเข้าออกพื้นที่ จนทำให้ฉนวนกาซาถูกเรียกว่าเป็น “คุกกลางแจ้ง”

ปัจจุบัน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หรือมีกิจธุระแบบไหนก็ตาม หากต้องการเข้าหรือออกฉนวนกาซา คุณจำเป็นต้องผ่านด่านพรมแดนของฉนวนกาซา โดยด่านพรมแดนมีทั้งหมด 7 จุด แต่มีเพียงไม่กี่จุดที่ยังเปิดทำการ และมันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของอิสราเอลและอียิปต์ ซึ่งหมายความว่า มีโอกาสที่พรมแดนสามารถถูกปิดได้ทุกเมื่อเช่นกัน

ด่านพรมแดนราฟาห์ เป็นช่องทางเดียวที่สามารถใช้เดินทางระหว่างอียิปต์กับฉนวนกาซา นั่นจึงทำให้มันเป็นตัวเชื่อมสำคัญระหว่างฉนวนกาซา กับส่วนที่เหลือของโลกอาหรับ

ถึงข้อจำกัดที่ประกาศใช้โดยเจ้าหน้าที่อียิปต์จะไม่เข้มงวดเหมือนในอดีต แต่ยังมีการจำกัดจำนวนและประเภทของคนที่อนุญาตให้เดินทางอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสิ่งนี้เป็นตัวบังคับให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาต้องจ่าย “ค่าประสานงาน” ที่แพงและไม่เป็นทางการให้กับทางอียิปต์ เพื่อที่พวกเขาจะสามารถข้ามพรมที่เปิดในระยะเวลาจำกัดได้

อย่างไรก็ตาม จุดผ่านแดนนี้ไม่อนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์จากเขตเวสต์แบงก์เดินทางเข้าฉนวนกาซา และอิสราเอลก็ไม่อนุญาตให้คนที่ออกจากช่องทางนี้ กลับเข้ากาซาผ่านด่านพรมแดนเบอิต ฮานูน อีกด้วย

ด่านพรมแดนเบอิต ฮานูน ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของฉนวนกาซา และอยู่ภายใต้การควบคุมของอิสราเอลอย่างเบ็ดเสร็จ มันคือช่องทางเดียวที่ชาวกาซาสามารถใช้เดินทางไปยังเขตเวสต์แบงก์ โดยที่ไม่ต้องผ่านอียิปต์หรือจอร์แดน อย่างไรก็ดี กระบวนการตรวจสอบเอกสารที่นี่ใช้เวลานานมาก และ “เป็เรื่องปกติ” หากเจ้าหน้าที่อิสราเอลจะไม่ตอบกลับใบขออนุญาต แม้บุคคลนั้นผ่านเกณฑ์อนุญาตเดินทางก็ตาม โดยพวกเขาอธิบายเพียงแค่ว่า “ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง”

ด่านพรมแดนคาเรน อาบู ซาเลม ตั้งอยู่ใกล้จุดที่พรมแดนของอียิปต์ ฉนวนกาซา และอิสราเอล บรรจบกัน โดยเปิดทำการเป็นช่องทางตัวเลือกในบางโอกาส และคือจุดผ่านแห่งจุดเดียว ที่สามารถส่งสินค้าในฉนวนกาซาออกขายนอกพื้นที่ได้

ด่านพรมแดนอัลมุนตาร์ ตั้งอยู่สุดทางตะวันออกเฉียงเหนือของฉนวนกาซา แต่อิสราเอลปิดอย่างถาวร เมื่อปี 2554 ด่านพรมแดนอัลเอาดะฮ์ ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมืองราฟาห์ เป็นจุดผ่านแดนที่เล็กที่สุดในฉนวนกาซา และอิสราเอลได้ปิดแห่งนี้ เมื่อปี 2551

ด่านพรมแดนอัลชูจาเอียห์ เคยถูกกำหนดไว้สำหรับการขนส่งเชื้อเพลิง และอิสราเอลสั่งปิด เมื่อปี 2553 และด่านพรมแดนอัลคารารา ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมืองข่าน ยูนิส และเมืองเดียร์ อัล-บาลอฮ์ อิสราเอลสั่งปิดเมื่อปี 2548 แต่มีหลายครั้งที่อิสราเอลใช้เส้นทางนี้ เพื่อปฏิบัติการทางทหารในฉนวนกาซา.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES