เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด อาทิ นพ.ชาตรี บานชื่น อดีตกรรมการแพทยสภา อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต และ อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ดร.วิโรจน์ สุ่มใหญ่ ที่ปรึกษาคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ สหประชาชาติ นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์วัยรุ่น และผู้จัดการโครงการต้นทุนชีวิต ประเทศไทย ให้ความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า การออกแบบนโยบายกัญชาที่สามารถสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์และป้องกันโทษได้ หรือที่เรียกว่า “นโยบายกัญชาทางสายกลาง” จึงควรเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ไม่ใช่นโยบายที่ปิดห้ามการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เลย หรือการปล่อยให้ใช้กัญชาอย่างเสรีโดยไม่ควบคุมการใช้ในลักษณะที่ก่อให้เกิดโทษเลย อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนโยบายกัญชาทั่วโลกมี 5 ลักษณะ คือ 1.กัญชาเป็นยาเสพติด ผิดกฎหมาย ห้ามใช้กัญชาเลย ไม่มีข้อยกเว้นของการใช้ (Prohibition) ผู้ใดจำหน่าย ครอบครองหรือเสพกัญชาผิดหมด ต้องรับโทษทางอาญา

2.กัญชายังเป็นยาเสพติด ผิดกฎหมาย แต่ลดทอนความเป็นอาชญากรรมของกัญชา (Decriminalization) เช่น กำหนดให้ผู้เสพกัญชาโดนปรับ แต่ไม่ต้องรับโทษทางอาญา แต่ผู้จำหน่ายกัญชายังต้องรับโทษหนักทางอาญา

3.กัญชายังเป็นยาเสพติด แต่อนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ (Medical Cannabis หรือ Cannabis for medical purpose) ได้แก่ การอนุญาตให้มีการจ่ายและเสพยากัญชาได้ หรืออนุญาตให้ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และมีแพทย์ออกใบรับรอง สามารถที่จะปลูกกัญชาใช้เพื่อรักษาตนเองได้ แต่ต้องขออนุญาตตามระเบียบ เพื่อควบคุมไม่ให้คนทั่วไปปลูกใช้เพื่อความบันเทิง

4.กัญชาไม่เป็นยาเสพติด แต่มีการควบคุมการใช้ในทางที่ผิดอย่างเข้มงวด (Legalization under strong control measures) เช่น จำกัดจำนวนการครอบครอง การห้ามเยาวชนเสพ การห้ามจำหน่ายให้เยาวชน การห้ามโฆษณา การห้ามขับขี่ยานพาหนะหากเสพกัญชา และการใช้มาตรการภาษีกัญชา เป็นต้น

5.กัญชาไม่เป็นยาเสพติด และปล่อยให้เกิดกลไกการตลาดแข่งขันเสรี ปลูก จำหน่าย โฆษณา ได้อย่างเสรีหรือค่อนข้างเสรี (Legalization under free market)

นโยบายทั้ง 5 ลักษณะนี้ มีสภาพเรียงจากคุมเข้มสุดโต่งไปจนกระทั่งเสรีสุดโต่ง ซึ่งแต่ละลักษณะก็ก่อให้เกิดประโยชน์และโทษแตกต่างกันไป

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ประเทศไทยเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้มีโอกาสใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ คือปลดปล่อยจากนโยบายลักษณะที่ 1 ไปเป็นลักษณะที่ 3 แต่นโยบายที่ใช้ในประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ โดยการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นั้น เป็นนโยบายในลักษณะที่ 5 เนื่องจากมีผลให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยสามารถสูบช่อดอกเพื่อความบันเทิงได้ โดยไม่มีความผิดในฐานเสพยาเสพติดใด ๆ ให้ปลูกในครัวเรือนโดยไม่จำกัดจำนวน ให้ปลูกเชิงพาณิชย์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ให้ขายและโฆษณาเชิญชวนให้ใช้กัญชาได้อย่างเสรี โดยไม่มีมาตรการป้องกันการแอบใส่กัญชาในอาหารและเครื่องดื่มเพื่อจำหน่ายในท้องตลาด เป็นต้น

ผลกระทบที่เริ่มทยอยปรากฏให้เห็นในสังคม และในอนาคตอันใกล้ เมื่อต้นกัญชาหนึ่งล้านต้นออก ดอกทั่วประเทศ จะเกิดผลกระทบมากมายเพียงใดจึงไม่อาจคำนวณได้

ทั้งนี้ข้อมูลจากเพจรามาชาแนล Rama Channel ระบุการใช้กัญชาไว้อย่างละเอียดว่าปกติแล้วเราไม่ได้ใช้กัญชาในการรักษาโรค แต่เราใช้สารออกฤทธิ์ที่มีอยู่ในกัญชาต่างหาก ซึ่งกัญชามีหลายสายพันธุ์ แต่ละพันธุ์ก็มีสัดส่วนในการออกฤทธิ์แตกต่างกันไป ทำให้ผลการรักษาโรคและผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างกันไป

โดยสารหลัก ๆ ในกัญชาที่ได้ยินกันบ่อยก็คือ สาร THC (tetrahydro cannabinol) และ CBD (Cannabidiol) ซึ่งสารทั้งสองชนิดมีฤทธิ์เป็นยาได้ โดยฤทธิ์มึนเมา หลอนประสาทจะมาจากสาร THC การสูบจะได้สารทั้งสองตัวแต่คนที่เสพ เพื่อมึนเมาหรือติดกัญชาคือ เขาติด THC ในแง่การแพทย์ THC และ CBD นี้มีวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน โดยสารทั้งสองตัวนี้จะพบได้มากที่สุดคือ ส่วน “ช่อดอก” ปริมาณสารนั้นจะเยอะกว่าที่พบตามใบมาก ๆ ปกติทางการแพทย์ก็มักนำส่วนนี้ไปสกัดสารที่เป็นประโยชน์แยกออกมาเพื่อใช้รักษาอย่างที่บอก ถ้าไม่สกัดแยกก็จะทำให้คนใช้ได้รับสารมึนเมา THC เข้าไปด้วย ตามเกณฑ์แล้วถ้าสกัดออกมาแล้วมี THC มากกว่า 0.2% ก็ยังถือว่าผลิตภัณฑ์กัญชาตัวนั้น ยังคงเป็นยาเสพติดอยู่เหมือนเดิมนั่นเอง

กัญชาเมื่อเอาไปสูบ ทอด ซดนํ้าซุป ต่างกันอย่างไร หลายคนอาจเข้าใจว่าการสูบคือ ดีที่สุด แต่ความเป็นจริงแล้วการกินกัญชาตรง ๆ จะทำให้กัญชาอยู่ในร่างกายได้ยาวนานมากกว่าการสูบ ควันของกัญชาก็ยังเป็นอันตรายต่อปอดและระบบทางเดินหายใจไม่แพ้บุหรี่ สำหรับการนำกัญชาไปประกอบอาหารนั้น มันมีข้อกำหนดหลายประการด้วยกันอันดับแรกคือ แนะนำให้ใช้แค่ใบเท่านั้น ห้ามใช้ช่อดอกเด็ดขาด เพราะเป็นส่วนที่มี THC สูง การกินบ่อย ๆ จะทำให้เกิดการเสพติด ตามภูมิปัญญาแต่โบราณใส่แค่ใบเท่านั้น แต่ก็ต้องดูปริมาณอีกทีว่าใส่เยอะแค่ไหน ใบแก่ ใบอ่อน สายพันธุ์ แหล่งที่ปลูก หรืออื่น ๆ ก็ส่งผลต่อปริมาณ THC ในอาหารทั้งนั้น

ที่สำคัญกว่าคือ วิธีการปรุง ถ้าการปรุงอาหาร มีนํ้ามัน มีไขมันเยอะ เช่น แกงกะทิ แล้วใส่ใบลงไปด้วย เท่ากับเป็นการสกัด THC ออกมาจากใบกัญชาด้วย เพราะสารนี้สามารถละลายได้ดีในไขมัน ถ้าเรากินเข้าไปเข้าไป ก็ได้รับ THC ที่มากยิ่งขึ้น

สำหรับวิธีสังเกตว่าอาหารไหนใส่กัญชาทำได้ยากมาก เพราะอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาจะมีหน้าตาเหมือนกับอาหารปกติทุกประการ สิ่งที่พอจะเป็นจุดสังเกตได้ก็คือ การตกแต่งและบรรจุภัณฑ์เท่านั้นเอง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ผู้ขายก็ควรชี้แจงให้ชัดเจนว่าอาหารที่ขายนั้นมีส่วนผสมของกัญชาอยู่ด้วยอย่างที่บอก

กรณีที่กินอาหารที่ใส่กัญชาไปแต่ไม่รู้ว่าใส่กัญชาหรือเปล่า ให้ลองสังเกตตัวเองดูว่าถ้ามีอาการปากคอแห้ง วิงเวียน คลื่นไส้ ชีพจรเต้นเร็ว ใจสั่น มึนเมา ควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้หรือไม่ ถ้ามีให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าในอาหารที่กินอาจมีส่วนผสมของกัญชาอยู่ด้วย

ถ้ากินกัญชาไปแล้วทำอย่างไรสิ่งแรกที่ต้องทำเลยคือ ให้หยุดกินทันที แล้วให้นั่งพักเพื่อสังเกตอาการ จากนั้นให้ดื่มนํ้าเปล่าเยอะ ๆ เพื่อบรรเทาอาการคอแห้ง แล้วให้นอนพัก แต่ถ้ามีอาการข้างเคียงต่าง ๆ เช่น ใจสั่น วิงเวียน อ่อนเปลี้ย ไปพบแพทย์รักษาตามอาการแบบนั้นจะปลอดภัยที่สุด เพราะไม่มีวิธีอื่นนอกจากรอให้ร่างกายกำจัดสารพวกนี้ออกมาเองเท่านั้น

ส่วนบางคนกินแล้วไม่รู้สึกอะไร อย่าชะล่าใจแล้วไปกินบ่อย เพราะ THC จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายไปสะสมในไขมันตามตัวและสามารถอยู่ในร่างกายได้นานเป็นสัปดาห์และจะนานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ ดังนั้นถ้ากินบ่อย ๆ หลาย ๆ วันเข้า ก็อาจทำให้เกิดการสะสมของ THC มากจนทำให้เกิดอันตรายได้เหมือนกัน

ส่วนความเชื่อที่ว่ากัญชารักษามะเร็งได้หรือไม่ ณ ข้อมูลที่มีในปัจจุบันต้องบอกว่า ยังไม่รับรอง เพราะกัญชาไม่ได้รักษามะเร็งแต่มันใช้รักษาหรือบรรเทาบางอาการได้ หลัก ๆ ที่ใช้อยู่มี 2 อย่างคือ 1. ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ด้วยการใช้สาร THC ที่อยู่ในกัญชามาใช้เสริมจากยาแก้คลื่นไส้ที่ใช้อยู่ตามปกติ 2. การใช้สาร THC และ CBD ในกัญชา มาช่วยในการลดปวด เพื่อเสริมจากยาแก้ปวดที่ใช้กันอยู่ จึงควรใช้ยาแผนปัจจุบันในการรักษาให้เต็มที่ก่อน แต่ถ้าไม่ได้ผลเท่าที่ควรค่อยพิจารณาเอากัญชามาช่วย ซึ่งการใช้ก็ต้องผ่านความเห็นจากแพทย์ก่อน

ทุกวันนี้กัญชารักษาได้เพียง 4 กลุ่มโรค1. กล้ามเนื้อหดเกร็งจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) 2. ลมชักที่ดื้อต่อยาแผนปัจจุบัน (Intractable Epilepsy) 3. ปวดประสาท (Neuropathic Pain) 4. อาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด (Nausea Vomiting) โดยใช้เป็นส่วนเสริมนอกเหนือไปจากการใช้ยาแผนปัจจุบัน ไม่ได้ใช้เป็นยาหลัก เพราะยาแผนปัจจุบันมีประสิทธิภาพสูง ปลอดภัยและมีผลข้างเคียงน้อยกว่าสารสกัดจากกัญชา

ส่วนข้อห้ามของสตรีมีครรภ์และเด็กห้ามใช้กัญชา จากการศึกษาพบว่าสาร THC ที่อยู่ในกัญชา จะรบกวนการพัฒนาของสมอง การเรียนรู้ และพัฒนาทางอารมณ์ของเด็ก ๆ ซึ่งตรงนี้ไม่เฉพาะแค่การใช้โดยตรงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงได้รับควันจากการสูบของคนในบ้านด้วย โดยการจำกัดอายุของเด็กจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ บางประเทศต้องไม่ตํ่ากว่า 18 ปี บางประเทศ 25 ปี ส่วนในไทยจะกำหนดที่อายุไม่ตํ่ากว่า 20 ปี แต่ในคำแนะนำของกรมการแพทย์จะแนะนำไว้ที่ 25 ปีเป็นอย่างน้อย

นอกจากนี้คนที่เป็นโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ไม่ควรเข้าไปข้องเกี่ยวกับกัญชาเลย เพราะมีการศึกษาว่ากลุ่มคนที่ใช้กัญชามีความเสี่ยงของการเกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ นอกจากนั้นผู้ป่วยจิตเวชทุกโรคก็ไม่ควรใช้เช่นกันเพราะจะทำให้อาการแย่ลงได้

เรื่องของกัญชาต้องสร้างความกระจ่างและออกกฎหมายควบคุมให้กับสังคมอย่างรวดเร็ว.

พรประไพ เสือเขียว