แต่กลับพบว่าทำท่าจะมีการ “ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ” กันมาก ทำท่าจะถึงขั้น “ตั้งวงพี้กัญชาริมถนน” จนหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องกระเด้งตัวขึ้นมาป้องปราม ท่ามกลางความกังวลจากทาง “แพทย์-ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ “ห่วงกลุ่มเด็ก-เยาวชน” เมื่อพบว่า…

เด็กและเยาวชน “สามารถเข้าถึงกัญชาได้ง่ายมาก”

ขณะที่แม้กัญชาไม่เป็นสิ่งเสพติดผิดกฎหมายแล้ว…

แต่… “ผลข้างเคียงต่อสมองและจิตมีฤทธิ์ต้องระวัง!!”

ทั้งนี้ กับ “คำเตือน” กรณี “ผลกระทบจากกัญชา” นั้น กรณีนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้มีการนำเสนอเพื่อจะย้ำเตือนกับสังคมไทยแล้วบ่อย ๆ ว่า… แม้กัญชาจะมีประโยชน์ แต่… การ “ใช้กัญชา” นั้น ผู้ที่จะใช้ควรจะ “ต้องศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ” เพราะแม้จะมีคุณ แต่หากใช้ไม่ถูกต้อง หรือไม่เหมาะสมแล้ว ก็ “อาจจะทำให้เกิดโทษ-เกิดปัญหา” ได้!!

และโฟกัสที่ “ผลจากกัญชาต่อสมองเด็ก” ก็มีผู้เชี่ยวชาญออกมา “เตือน” รวมถึงทาง สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย ได้แก่ ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย ชมรมจิตเวชศาสตร์การเสพติดแห่งประเทศไทย สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ …ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอสะท้อนต่อเพื่อร่วมย้ำเตือนในวันนี้…

“สมองของเด็กและวัยรุ่น ถือเป็นช่วงของการสร้างพัฒนาการที่ยังมีความเปราะบาง เนื่องจากยังอยู่ในช่วงการเจริญเติบโตของระบบสมองส่วนอารมณ์และวงจรรับรู้ความสุข รวมถึงเป็นช่วงที่ระบบสมองกำลังพัฒนาเกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์และการใช้เหตุผล ซึ่งหากเสพติดกัญชาในช่วงวัยนี้ โอกาสที่จะเลิกนั้นจะทำได้ยากกว่าวัยผู้ใหญ่”

 …นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการ “เตือน!!!” ไว้โดยผู้เชี่ยวชาญ ผ่านทางบทความ “ผลกระทบกัญชาต่อสมองเด็ก” โดยสมาคมจิตแพทย์ฯ ที่ได้มีการให้ข้อมูลเรื่องนี้ไว้ จากการที่มีการนำกัญชาไปผสมในอาหาร เครื่องดื่ม และมีการขายอย่างแพร่หลาย ซึ่งก็จะทำให้ เด็กและวัยรุ่นเข้าถึงกัญชาได้ง่ายและสะดวก จนน่ากังวลว่า…การได้รับสารในกัญชาในปริมาณไม่เหมาะสมติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลต่อสมอง ร่างกาย และจิตใจ ในระยะยาว ในขณะที่ระบบตรวจสอบและวัดมาตรฐานปริมาณสารเสพติดกัญชา (THC) ในผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ ขณะนี้ยังมีความซับซ้อน ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง

ฤทธิ์กัญชาจะทำให้ประสิทธิภาพสมองแย่ลง เนื้อสมองน้อยลง จนความสามารถในการคิดอย่างมีเหตุผลถดถอย ขาดสมาธิ รวมถึงในระยะยาวอาจทำให้เกิดโรคความจำเสื่อม” …เป็น “ผลต่อสมอง” ที่ทางผู้เชี่ยวชาญได้ชี้ไว้

ขณะที่ “ความเสี่ยง” จากการใช้กัญชาไม่เหมาะสม ไม่เหมาะสมกับช่วงวัยโดยเฉพาะ “เด็กและเยาวชน” ที่อยู่ในช่วงที่สมองกำลังมีพัฒนาการ ในบทความ “ผลกระทบกัญชาต่อสมองเด็ก” ชี้ไว้อีกว่า… การเสพติดกัญชาในช่วงวัยที่ร่างกายและสมองกำลังพัฒนา กับ “ผลเสียต่อสุขภาพจิตจากกัญชา” นั้น อาจยิ่งไป เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคจิตเภท โรคจิตชนิดต่าง ๆ อาทิ เกิดอาการหูแว่ว ภาพหลอน หวาดระแวง แพนิค วิตกกังวล รวมถึงเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งจากผลศึกษานั้น  พบว่า…

บางคนมีอาการเหล่านี้ “ตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้กัญชา”

อีกทั้ง “ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น” นี่ “ก็น่าห่วง!!”

กับ “ผลกระทบข้างเคียง” ที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกันนั้น ได้แก่… อุบัติเหตุ รวมถึง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และ ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม จากพฤติกรรมทางเพศที่ขาดการป้องกัน อีกทั้งการใช้กัญชาโดยขาดความเหมาะสมยังนำไปสู่ “ความเสี่ยงทางพฤติกรรม” อาทิ… คบเพื่อนกลุ่มเสี่ยงจนนำสู่การใช้สารเสพติดอื่น ๆ และอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวจนนำสู่การทำผิดกฎหมาย ตลอดจนการเสพติดกัญชาจะส่งผลทำให้การเรียนตกต่ำจากการที่สมาธิและความจำสั้น ทำให้สูญเสียโอกาสในอนาคต

ที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ถ้าเสพติดกัญชาตั้งแต่อายุยังน้อย ๆ การเลิกกัญชาจะทำได้ยากมากกว่าคนในวัยผู้ใหญ่ รวมถึงอาจเกิดอาการถอนยาอย่างรุนแรงมากกว่าคนวัยผู้ใหญ่อีกด้วย” …เป็น “พิษภัยต่อวัยเยาว์” ที่ผู้เชี่ยวชาญระบุไว้

“ติดกัญชาตั้งแต่เด็ก” จะ “เลิกยาก-ทรมานมาก”

และ “ผลร้ายต่อสมอง-จิต” ก็ “น่าเป็นห่วงมาก!!”

ทั้งนี้ ทางสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย ได้ให้ “คำแนะนำ” พ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่อยากทำให้บุตรหลานห่างจากพิษภัยกัญชา ซึ่งกรณีที่ “ริลองใช้กัญชา” แล้ว ก็ได้มีการให้แนวทางไว้ว่า… เริ่มจาก เน้นพูดคุย รับฟังถึงเหตุผลที่บุตรหลานตัดสินใจริลอง นอกจากนั้น “หลักสำคัญที่สุด” เมื่อพบว่าลูกหลานแอบใช้กัญชา ก็คือ “ห้ามด่าทอ แต่ควรใช้หลักเหตุผลพูดคุย” ใช้การเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย เพื่อให้ลูกหลานได้เข้าใจว่า…ทำไมจึง “ไม่ควรริลองใช้กัญชา” ในวัยนี้

การสื่อสารกับเด็ก ในวัยนี้ สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำคือต้องใจเย็น ต้องค่อย ๆ อธิบายโดยใช้หลักเหตุผล และที่สำคัญต้องตั้งใจรับฟังสิ่งที่เด็กอยากจะบอกด้วย” …เป็น “คำแนะนำ” จาก สมาคมจิตแพทย์ฯ และภาคีเครือข่าย

จาก “คำเตือน” จนถึง “คำแนะนำ”…ล้วน “น่าสนใจ”

ในขณะที่ “บางคนบางกลุ่มปลื้มปริ่มกับกัญชาเสรี”

โดยที่ยังไร้มาตรการที่ดีพอในการปกป้องเด็ก!!!”.