นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลสิชล (นครศรีธรรมราช) กองตรวจการประมง กรมประมง ขณะเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันฯ ออกปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการทำประมงพื้นที่เขตทะเลชายฝั่งพบฝูงโลมาหลังโหนก (Indopacific humpback dolphin) ชื่อวิทยาศาสตร์ Sousa chinensis จำนวน 5-8 ตัว ว่ายน้ำอยู่ตามแนวเขตชายฝั่งทะเล จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน หลังพบโลมาฝูงแรกในพื้นที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำที่ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง

กรมประมงนอกจากจะดำเนินการผลักดันแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566-2570 ภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (MMPA) เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำเพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammal Protection Act : MMPA) ของสหรัฐอเมริกามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมประมงได้ดำเนินโครงการควบคุมเฝ้าระวังพื้นที่ทำการประมงในบริเวณพื้นที่เสี่ยงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม เพื่อเฝ้าระวังป้องกันการใช้เครื่องมือทำการประมงที่อาจส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการในบริเวณแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ครอบคลุมพื้นที่ทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ส่วนในด้านการบังคับใช้กฎหมาย กรมประมงได้ดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยยึดหลักการ 3 ป. ป้อง ปราม ปราบ โดยขั้นต้นเน้นลงพื้นที่พูดคุยกับพี่น้องชาวประมง ประชาสัมพันธ์ข้อกฎหมายภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการทำการประมงผิดกฎหมาย อาทิ การทำการประมงในพื้นที่ห้ามใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย หรือการใช้เครื่องมือประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง การใช้เครื่องมือประมงอย่างไรไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงการช่วยเหลือสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมเบื้องต้น ฯลฯ

โลมาหลังโหนก หรือ โลมาขาวเทา หรือโลมาเผือก หรือ โลมาสีชมพู เป็นโลมาชนิดหนึ่ง ในวงศ์โลมามหาสมุทร (Delphinidae) มีลักษณะทั่วไป คือ มีจะงอยปากยาวโค้งเล็กน้อยที่เด่นชัดคือส่วนของฐานครีบหลังจะเป็นสันนูนสูงรองรับครีบหลังสีลำตัวจะมีการผันแปรต่างกันมาก ตัวเล็กจะมีสีจางจนเหมือนเผือกแม้บางตัวก็มีสีออกขาวหรืออย่างน้อยขาวในบางส่วน หรือสีชมพู ซึ่งสีเหล่านี้ไม่ได้มาจากเม็ดสีแต่เป็นสีของหลอดเลือดที่ช่วยไม่ให้อุณหภูมิร่างกายสูงจนเกินไป และมีส่วนหลังที่เป็นสันนูนเหมือนโหนก อันเป็นที่มาของชื่อสามัญ ขนาดโตเต็มที่ ตัวผู้ยาวประมาณ 3.2 เมตร ขณะที่ตัวเมียยาว 2.5 เมตร และลูกแรกเกิดยาวประมาณ 1 เมตร มีอายุโดยเฉลี่ย 40 ปี โลมาหลังโหนกเมื่ออายุมากขึ้นสีชมพูตามตัวจะยิ่งเข้มขึ้น และส่วนด้านท้องและด้านล่างลำตัวจะเป็นจุด และมีสีที่สว่างกว่าลำตัวด้านบนกระจายพันธุ์ตามแถบชายฝั่งหรือแหล่งน้ำตื้นที่มีความลึกไม่เกิน 20 เมตร บริเวณอินโดแปซิฟิก ในประเทศไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองโดยพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน.