มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 215 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายพันคน และเกิดความเสียหายเป็นวงกว้างในเมืองหลวงของเลบานอน แต่ถึงแม้มันจะเป็นหนึ่งในการระเบิดที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา การสืบสวนของศาลกลับไม่ได้ทำให้เจ้าหน้าที่อาวุโสคนใดต้องรับผิดชอบ

Al Jazeera English

เนื่องด้วยการสอบสวนที่หยุดชะงักเป็นเวลานานหลายเดือน ชาวเลบานอนหลายคนจึงมองว่าสิ่งนี้ คือตัวอย่างการยกเว้นโทษของชนชั้นปกครอง ที่หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อการทุจริตและธรรมาภิบาล ซึ่งย่ำแย่มานาน รวมถึงนโยบายต่าง ๆ ที่นำไปสู่การล่มสลายทางการเงิน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เลบานอนอาวุโสหลายคน รวมถึงประธานาธิบดีมิเชล อูน และอดีตนายกรัฐมนตรีฮัสซัน ดิอับ ในเวลานั้น ต่างทราบถึงลอตสินค้าดังกล่าว โดยอูนกล่าวหลังเหตุการณ์ระเบิดไม่นานว่า ได้สั่งการบรรดาหัวหน้าความปลอดภัยให้ “ทำสิ่งที่จำเป็น หลังจากที่ทราบเรื่องสารเคมีแล้ว ส่วน ดิอับ กล่าวว่า มโนธรรมของเขามีความชัดเจน

หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในเลบานอน เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา เสนอข่าวรำลึกเหตุระเบิดครั้งใหญ่ ที่ท่าเรือในกรุงเบรุต

สำหรับการสืบสวน กระทรวงยุติธรรมเลบานอนแต่งตั้งให้ตุลาการฟาดิ ซาวาน รับหน้าที่หลังเกิดเหตุระเบิด แต่เขากลับถูกถอดออกจากคดีนี้เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 เนื่องจากถูกกดดันทางการเมืองอย่างหนัก ซึ่งในเวลาต่อมา ตุลาการทาเรค บิตาร์ ได้รับการแต่งตั้งแทนซาวาน โดยเขาพยายามสอบปากคำเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคน เช่น นายอาลี ฮัสซัน คาลิล, นายกาซี เซตาร์ อดีตรัฐมนตรี รวมถึงพล.ต.อับบาส อิบราฮิม หัวหน้าหน่วยงานความมั่นคงทั่วไป

อย่างไรก็ตาม อดีตเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัย ต่างคัดค้านและปฏิเสธต่อการกระทำผิดทั้งหมด และให้เหตุผลว่าพวกเขาได้รับการยกเว้น หรือบิตาร์ไม่มีอำนาจที่จะดำเนินคดีกับพวกเขา ส่งผลให้เกิดการยื่นคดีความต่อศาลมากกว่า 20 คดี เรียกร้องให้มีการถอดถอนบิตาร์ โดยกล่าวหาว่าเขามีอคติและ “ข้อผิดพลาดร้ายแรง” จนนำไปสู่การระงับการสอบสวนหลายครั้ง

นอกจากนี้ อดีตรัฐมนตรีหลายคนยังกล่าวเสริมว่า คดีความใด ๆ ของพวกเขาควรได้รับการพิจารณาโดยศาลพิเศษสำหรับประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรี ซึ่งศาลดังกล่าวไม่เคยมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบแม้แต่คนเดียว และจะส่งผ่านการควบคุมการสอบสวนไปยังฝ่ายปกครองในรัฐสภาแทน

แม้บิตาร์จะไม่ได้ติดตามสมาชิกคนใดของ “ฮิซบอลเลาะห์” กลุ่มติดอาวุธหนักที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน แต่ฮิซบอลเลาะห์ได้รณรงค์ต่อต้านเขาอย่างดุเดือดในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากบิตาร์ตั้งข้อสงสัยกับพันธมิตรของพวกเขา จนเจ้าหน้าที่ฮิซบอลเลาะห์อาวุโสคนหนึ่งส่งข้อความเตือนบิตาร์ ว่า ทางกลุ่มจะ “ถอนรากถอนโคน” เขา อีกทั้งการประท้วงต่อต้านบิตาร์ของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์และพันธมิตร ยังยกระดับจนกลายเป็นความรุนแรงเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว

ทั้งนี้ทั้งนั้น ฮิซบอลเลาะห์ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ระเบิด เกี่ยวกับการเก็บอาวุธไว้ที่ท่าเรือ และกล่าวว่าทางกลุ่มไม่ส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด แม้ฝ่ายตรงข้ามจะกล่าวหามานานว่า ฮิซบอลเลาะห์เป็นฝ่ายควบคุมท่าเรือ แต่ทางกลุ่มก็ให้การปฏิเสธเช่นกัน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS