โดยที่รวมถึง “ปัจจัยที่ 5” ของผู้คนยุคนี้ อย่าง “รถยนต์” ที่ในช่วงฤดูฝนปี 2565 นี้เกิดภาพ “รถยนต์เสียหายเพราะน้ำท่วมจำนวนมาก”

ปีนี้ “คนไทยอ่วมจากพิษน้ำท่วม” อีก

ภาพความ “เสียหาย” มีให้เห็นต่อเนื่อง

กับรถก็มีทั้ง “รถจมน้ำ-รถเสียกลางน้ำ”

ทั้งนี้ จาก “ฝนถล่มเมือง” จากเหตุ “อุทกภัย” จนทำให้บังเกิดภาพ “ความเสียหายของรถยนต์” จำนวนมาก โดยมีทั้งกรณีที่รถยนต์เกิดเครื่องยนต์ดับ หรือเกิดเสีย ขณะขับฝ่าระดับน้ำท่วม รวมไปถึงรถยนต์ที่เสียหายจากการจมน้ำนั้น กับ “คำแนะนำ” เพื่อ “ป้องกันรถยนต์” มิให้เกิดความเสียหายขณะที่เกิดภาวะน้ำท่วม กรณีนี้ก็มีแนวทางจากผู้เชี่ยวชาญที่วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมาสะท้อนต่อ โดยเป็นคำแนะนำของ ผศ.ดร.สราวุธ เวชกิจ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้แบ่งปันข้อมูลเรื่องนี้เอาไว้ผ่านเฟซบุ๊ก Mahidol Channel เกี่ยวกับ…

ข้อปฏิบัติให้รถปลอดภัยช่วงน้ำท่วม

ทาง ผศ.ดร.สราวุธ ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า… สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อต้องเผชิญน้ำท่วม คือ ประเมินความสูงของน้ำ ว่าสูงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งปกติจะแบ่งน้ำท่วมเป็น 2 กรณี คือ 1.น้ำท่วมแบบน้ำไหล หรือ “น้ำหลาก” โดยส่วนใหญ่จะมีระดับน้ำสูงไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร ซึ่งเมื่อต้องขับรถไปเจอน้ำท่วมแบบนี้ สิ่งที่ควรทำคือ “หยุดรถ-ไม่ควรไปต่อ” เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย เพราะกระแสน้ำที่หลากนั้นอาจทำให้รถพลัดตกถนนได้ และ 2.น้ำท่วมแบบอยู่นิ่ง กรณีนี้ระดับน้ำที่ท่วมอาจสูงกว่า 30 เซนติเมตร หรือเกินครึ่งล้อรถยนต์ โดยระดับน้ำระดับนี้อาจทำให้เข้าไปในตัวรถ หรือ ทำให้เครื่องยนต์เสียหาย ได้…

โดยเฉพาะรถที่จมหรือแช่ในน้ำนาน ๆ

ส่วน กรณีจำเป็นต้องขับรถฝ่าน้ำท่วม นั้น คำแนะนำกรณีนี้ ผศ.ดร.สราวุธ ได้แนะ “หลักวิธีปฏิบัติ” เมื่อจะต้องขับรถเพื่อฝ่าน้ำที่ท่วมว่า… เริ่มจาก “ปิดแอร์รถยนต์” เนื่องจากหากเปิดแอร์ขณะที่ขับรถลุยน้ำท่วม ใบพัดด้านหน้าเครื่องยนต์จะเพิ่มความถี่ในการทำงาน จนมีโอกาสที่จะตีน้ำที่ท่วมให้เข้ามาในห้องเครื่องยนต์ได้ หรืออาจจะเกิดการพัดเอาเศษไม้หรือเศษใบไม้เข้ามา จนส่งผลให้เกิดความเสียหายกับเครื่องยนต์ได้, “เล็งระยะ” โดยในระหว่างที่ต้องขับรถลุยฝ่าน้ำท่วม ผู้ขับขี่ ควรเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มีระยะที่เหมาะสม เพราะเมื่อน้ำท่วมประสิทธิภาพในการเบรกก็จะด้อยลงด้วย

“ใช้ความเร็วคงที่” ด้วยการใช้เกียร์ต่ำ ประมาณเกียร์ 1-2 แล้วรักษารอบเครื่องยนต์ไว้ที่ 1,500-2,000 รอบ เพราะหากต่ำกว่านี้เครื่องยนต์อาจสะดุดและมีโอกาสจะดับจากไฟฟ้าช็อต หรือหากรอบเครื่องยนต์สูงกว่านี้ความเร็วรถก็จะสูงขึ้น จนเพิ่มโอกาสให้มีการเร่งและเบรกรถบ่อยครั้ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรอบเครื่องยนต์กะทันหัน จนเพิ่มโอกาสที่น้ำจะเข้าเครื่องยนต์ได้  และสุดท้าย “ไม่เปลี่ยนเกียร์” ขณะขับรถลุยน้ำ เพราะจะทำให้น้ำเข้าเครื่องยนต์จนรถเกิดความเสียหาย…

นี่เป็น “หลักปฏิบัติเบื้องต้น” โดยสังเขป

เป็นการแนะนำ “วิธีขับรถช่วงมีน้ำท่วม”

สำหรับ กรณีรถดับกลางน้ำท่วม นั้น ทาง ผศ.ดร.สราวุธ แนะนำไว้ว่า… หากรถที่ขับมาเกิดดับกลางน้ำท่วม สิ่งที่ “ห้ามทำเด็ดขาด!!” คือ “ห้ามสตาร์ตเครื่องยนต์” เพราะยังไม่ทราบว่าสาเหตุที่เครื่องยนต์ดับเกิดจากอะไร ซึ่งที่ร้ายแรงที่สุดคือการที่น้ำถูกดูดเข้าไปในเครื่องยนต์จนทำให้เครื่องยนต์ดับ ที่เมื่อสตาร์ตรถอาจเกิดกรณี “ไฮโดรล็อก” จนเครื่องยนต์ไม่ทำงาน ที่สำคัญเมื่อยิ่งสตาร์ตรถซ้ำ อาจทำให้เครื่องยนต์เสียหายหรือพังมากขึ้นได้ โดยถ้าเจอสถานการณ์นี้ให้รีบออกจากรถ แล้วเข็นเข้าข้างทาง จากนั้นหารถลากจูงไปยังศูนย์บริการในพื้นที่…เป็นข้อแนะนำกรณี “รถยนต์ดับขณะขับฝ่าน้ำท่วม”

และคำแนะนำถัดมาคือ กรณีหลังขับรถลุยน้ำท่วมมาแล้ว ที่ผู้เชี่ยวชาญคนเดิมได้แนะนำไว้ถึง “ข้อปฏิบัติที่ต้องทำ” ได้แก่ “เช็กเบรก” เพราะหลังรถแช่น้ำนาน ๆ อาจทำให้ระยะเบรกเสีย, “เช็กเครื่องยนต์” สังเกตเสียงว่าผิดปกติหรือเครื่องสั่นหรือสะดุดหรือไม่ หากไม่แน่ใจไม่ควรฝืนขับ, “เช็กระบบไฟ” และ “เช็กล้อรถ” เนื่องจากรถที่วิ่งฝ่าน้ำอาจมีตะปูหรือสิ่งผิดปกติทิ่มตำทำความเสียหายได้ สุดท้ายคือ “ทำความสะอาด” ทั้งภายในและภายนอกรถตรวจดูว่ามีเศษใบไม้หรือกิ่งไม้ติดอยู่ในห้องเครื่องหรือจุดต่าง ๆ หรือไม่ และถ้าขับผ่านระดับน้ำที่สูงกว่าล้อรถยนต์ก็ควรนำรถเข้าศูนย์เพื่อเช็กให้ละเอียด

ทั้งนี้ ปิดท้ายที่ กรณีรู้ว่าน้ำกำลังจะท่วมเข้าสู่ที่พักอาศัยในบริเวณที่จอดรถไว้ ทาง ผศ.ดร.สราวุธ แนะนำไว้ว่า… สิ่งที่ควรทำคือ ถอดแบตเตอรี่รถออก เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดจากการช็อตของระบบไฟฟ้า และต่อมาที่ควรทำคือ ถ้าเป็นไปได้ ควรหนุนรถให้สูงจากพื้น เพื่อป้องกันน้ำท่วมถึงตัวรถ หรือหากไม่สามารถหนุนทั้ง 4 ล้อได้ ก็ให้หนุนล้อหน้า 2 ล้อ เพื่อให้ตัวเครื่องยนต์พ้นจากระดับน้ำที่กำลังจะท่วมให้มากที่สุด …นี่ก็เป็นอีกคำแนะนำที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญ

“น้ำท่วม” …ปีนี้ “คนไทยต้องอ่วมกันอีก”

ก็ต้องป้องกัน “รถเสียหายจากน้ำท่วม”

ที่เสียหายแล้ว “งานใหญ่-จ่ายกันจุก!!”.