จากรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเรื่องยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร มีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเสนอแนะในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ที่ค่อนข้างครบถ้วน จากทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และจากฝ่ายที่ไม่สนับสนุนบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ในมิติต่างๆ ที่สามารถนำมาเป็นหลักคิดสำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมได้

ศ.ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์  สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ระบุว่าฝ่ายที่ต้องการสนับสนุนบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ถูกกฎหมาย เพื่อจะได้เก็บภาษีเข้ารัฐนั้น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเสนองานวิจัยเรื่อง “การประเมินต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จากบุหรี่ไฟฟ้า” ว่า มีหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้า และการเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นผู้สูบบุหรี่ในอนาคตเพิ่มขึ้น 2.93-4.59 เท่า ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่แน่ชัดเกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพในระยะยาวจากบุหรี่ไฟฟ้า ในการศึกษาครอบคลุมทั้งต้นทุนทางตรงค่ารักษาพยาบาลและต้นทุนทางอ้อมจากการสูญเสียผลิตภาพ ทั้งจากการขาดงานและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ของการมีวัยรุ่นชายที่เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่อายุ 15 ปี คือ 2,637,414 บาท และต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ของการมีวัยรุ่นหญิงที่เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่อายุ 15 ปี คือ 103,522 บาท

ผลการประเมินต้นทุนในครั้งนี้ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากครอบคลุมเพียง 4 โรคหลัก ยังไม่รวมต้นทุนค่ารักษาที่เกิดขึ้นนอกโรงพยาบาล และต้นทุนทางตรงที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ เช่น การสูญเสียผลิตภาพจากการขาดงาน

ขณะที่คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ตีพิมพ์ผลงานด้านเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของผู้ใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23พฤษภาคม 2565 (Wang Y, Sung H-Y, Lightwood J, Yao T, Max WB, 2022) สรุปว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเสียค่ารักษาพยาบาลปีละ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5 แสนล้านบาท) สำหรับผู้ใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ แบ่งเป็นกลุ่มที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียว 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท) และกลุ่มที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4 แสนล้านบาท) บ่งชี้ว่า ผู้ใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์แต่ละคน มีค่าใช้จ่ายทางสุขภาพมากกว่าปีละ 2 พันเหรียญสหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบใดๆ

ถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย เพราะภาษีบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐ จัดเก็บได้ไม่เกินปีละ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 300 ล้านบาท) เท่ากับความสูญเสียจากบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์สูงกว่าภาษีที่เก็บได้ถึง 1,500 เท่า

ต่อมาอธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า จะผลักดันยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยภาษีสรรพสามิต โดยมุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ภายใต้แผนกลยุทธ์ EASE Excise ซึ่งผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกอ้างว่า “ต้องมีการกำหนดพิกัดอัตราภาษีเพื่อให้สามารถควบคุม ปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าลักลอบ เป็นการช่วยเหลือสาธารณสุข ได้อีกทางหนึ่ง

ศ. ดร.นิทัศน์ กล่าวว่าเห็นใจที่ท่านอธิบดีกรมสรรพสามิต ต้องรับผิดชอบในการหารายได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิตต่างๆ จึงขอเสนอว่า มีแนวคิดจากสหราชอาณาจักรที่น่าสนใจ จากกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (All Party Parliamentary Group on Smoking and Health) คือ การจำกัดเพดานกำไรของอุตสาหกรรมยาสูบ การจัดเก็บภาษีกำไร (profit tax) จากอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ เพื่อนำเงินมาใช้เป็นกองทุนควบคุมยาสูบของสหราชอาณาจักร (Smokefree UK 2030) ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ 4 แห่ง มีส่วนแบ่งครองตลาดยาสูบในสหราชอาณาจักรรวมกัน 95% และมีกำไรรวมกันมากกว่า 900 ล้านปอนด์ต่อปี (กำไร 31% 39% 50% และ 67% ในขณะที่สินค้าอุปโภค-บริโภค อื่นๆ มีกำไรไม่เกิน 20%)

ในสหรัฐ มีการเก็บ “ค่าผู้ใช้” (user fee) จากอุตสาหกรรมยาสูบ (US Food and Drug administration (FDA). Tobacco User Fee Assessment Formulation by Product Class.) ซึ่งแตกต่างจากสหราชอาณาจักร แต่มีจุดประสงค์เดียวกันคือ เก็บเงินจากอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ เพื่อนำมาใช้เป็นกองทุนในการควบคุมยาสูบของสหรัฐอเมริกา (Smokefree 2030)

อัยการสูงสุด รัฐคอนเนคทิกัต สหรัฐ ประกาศเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 ว่า บริษัทบุหรี่ไฟฟ้ายอมจ่ายเงินเป็นจำนวนสูงถึง 43805 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 15,000 ล้านบาท) ในข้อหาทำการตลาดมุ่งเป้าไปยังเด็กและเยาวชน และหลอกลวงว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า

เห็นได้ว่าแนวทางการเก็บภาษีจากอุตสาหกรรมยาสูบ ทั้งในสหราชอาณาจักรและสหรัฐ ใช้หลักการ ผู้ใดก่อความเสียหาย จะต้องเป็นผู้ชดใช้ ไม่ควรปล่อยให้อุตสาหกรรมยาสูบได้กำไรอย่างลอยนวล โดยไม่รับผิดชอบต่อภาระโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่”

ศ.ดร.นิทัศน์  กล่าวต่อว่าประเด็นเรื่องการปราบปรามบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ลักลอบ เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข ทั้งนี้บุหรี่มวน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ถูกกฎหมาย ก็ยังมีกระบวนการค้าบุหรี่เถื่อนอยู่ ดังนั้น การเรียกร้องเพื่อทำให้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ถูกกฎหมายจะได้ลดการค้าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมายนั้น เป็นแนวคิดที่ไร้วิสัยทัศน์ เพราะตัวการที่เป็นต้นเหตุของการค้าบุหรี่และบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมายนั้น คืออุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ ซึ่งมุ่งเน้นกำไร ไม่สนใจธรรมาภิบาลใดๆ ทั้งสิ้น

ที่สำคัญมากไปกว่านี้ คือ การเข้าร่วมพิธีสารเพื่อกำจัดการค้าที่ผิดกฎหมายในผลิตภัณฑ์ยาสูบ  (Protocol to Eliminate Illicit Trade in Tobacco Products) ในกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ทั้งนี้ การเข้าร่วมพิธีสารฯ จะเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศในการติดตามและตรวจสอบ (Track and Trace) ตั้งแต่ต้นทางการผลิต การกระจายสินค้า จนไปถึงร้านค้าปลีก   

การเข้าร่วมพิธีสารฯ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายและได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการกำจัดต้นเหตุของการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมายจากอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา มีการนำเสนอการเข้าร่วมพิธีสารฯ ในการประชุมร่วมกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาการขายบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมาย

ประเทศที่มีผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ประเภทให้ความร้อนจำหน่ายอยู่ในหลายประเทศ ล้วนมีมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบอย่างเข้มงวด จึงทำให้อัตราการสูบบุหรี่มวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะมีบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ตลาด

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า อุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ โดยอ้างว่ามีโทษภัยน้อยกว่าบุหรี่มวน และสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเลิกบุหรี่มวน แต่โดยข้อเท็จจริง อุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติยังคงผลิตบุหรี่มวนเพื่อขายในประเทศที่ไม่มีมาตรการควบคุมยาสูบ หรือไม่มีมาตรการที่เข้มงวด ในขณะเดียวกัน ประเทศที่มีมาตรการควบคุมยาสูบอย่างเข้มงวด และอัตราการสูบบุหรี่มวนลดลงอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติจึงผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ไปจำหน่าย องค์กรระดับนานาชาติวิเคราะห์ว่า ผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่เพื่อสุขภาพของผู้บริโภค แต่เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ของอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ

กรณีศึกษาในต่างประเทศเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับไทย ในการเฝ้าระวังอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติและเครือข่ายบริวาร รวมทั้งผู้กำหนดนโยบาย เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคน ที่พยายามผลักดันให้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ถูกกฎหมาย ทั้งๆ ที่ข้ออ้างต่างๆ ไม่เป็นความจริง ดังนั้น นโยบายห้ามนำเข้าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ของไทย มีจุดยืนที่ถูกต้องในการปกป้องเยาวชนไทย และสาธารณสุขของประเทศไทย