โดยมีปัจจัยจากการที่ นักเล่นเกมคนไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจนแตะอยู่ที่ 32 ล้านคน!!… ซึ่งนักเล่นเกมคนไทยที่เพิ่มขึ้นและส่งผลถึงมูลค่าเม็ดเงินที่สะพัดในตลาดเกมออนไลน์นี้ ก็นับเป็นส่วน เสริมระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะ “อุตสาหกรรมดิจิทัล” ที่ก็จำเป็นต้องได้รับการ “สนับสนุน-ส่งเสริม” อย่างต่อเนื่อง…

ในฐานะ…อีก “อุตสาหกรรมออนไลน์”

ที่จะเป็น “อีกเสาเศรษฐกิจที่สำคัญ!!”…

อย่างไรก็ตาม ในแง่มูลค่าเศรษฐกิจ-การเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นก็มุมหนึ่ง ขณะที่อีกมุมหนึ่งในเชิงสังคมหรือ “ผลกระทบ” ที่ก็อาจจะ “เกิดขึ้นได้” นั้น…ในแง่มุมนี้ก็ ต้อง แก้ไขป้องกันปัญหา” เพื่อไม่ให้ “เกม” กลายเป็น “จำเลยสังคม” ซึ่งทุกภาคส่วน จำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ ปัญหาเด็กติดเกม” ก่อนที่ปัญหานี้จะ ยิ่งซับซ้อนเพิ่มขึ้น” โดยที่… มีแนวโน้มเด็กยุคใหม่เสี่ยงที่จะเป็น โรคเสพติดเกม” จนถึงขั้น ต้องเข้ารับการบำบัดรักษา!!” เพื่อแก้ไขอาการ…

“เกม” มีประโยชน์ช่วยพัฒนาการเรียนรู้

แต่ “ใช้เวลาเล่นมากไปก็อาจส่งผลเสีย”

“ก่อปัญหาสุขภาพ” ได้ “ทั้งต่อกาย-จิต”

ทั้งนี้ กรณี “เด็กติดเกม” ที่อาจถึงขั้นเป็น “โรคเสพติดเกม” ซึ่งบางรายอาจส่งผลทำให้เกิดอาการ “ป่วยทางจิตได้” หากไม่สามารถจัดสมดุลตนเองได้ ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อวันนี้…เป็นข้อมูลโดย รศ.ดร.ภญ.จิรภรณ์ อังวิทยาธร อาจารย์ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากบทความ “โรคติดเกม” ที่เผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งฉายภาพให้สังคมตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบ โดยอ้างอิงรายงาน กรมสุขภาพจิต ที่ระบุว่า… เด็กไทยเล่นเกมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเป็นอันดับ 1 ของประเทศแถบเอเชีย

ตามมาด้วย…“ปัญหาวิกฤติเด็กติดเกม”

เด็กไทยมีปัญหานี้รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ”

รศ.ดร.ภญ.จิรภรณ์ สะท้อนถึง “ปัญหาเด็กติดเกม” ไว้ว่า… สำหรับวิกฤตินี้ กำลังเป็นปัญหาสำคัญของทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จนทำให้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้ “ภาวะติดเกม” เป็น โรค” ชนิดหนึ่ง คือ “Gaming disorder” โดยเฉพาะภาวะติดเกม ที่ส่งผลให้ “ป่วยจนมีอาการทางจิตรุนแรง” ต้องได้รับการบำบัดรักษาเช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ ทั้งที่จุดประสงค์ของเกมคือเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินหรือเพื่อผ่อนคลาย แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่เด็ก-เยาวชน ติดเกมเพิ่มขึ้นนั้น กลับเป็นผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นจากเกมออนไลน์ ที่มี “ปัจจัย” จาก “ผู้เล่นเกมควบคุมตนเองไม่ได้”

“สัญญาณบ่งชี้ว่าเด็กอาจเป็นโรคติดเกม” นั้น มีการชี้ไว้ว่า… หลักสังเกตอาจเริ่มดูจาก ปฏิกิริยาตอบสนองของเด็กเมื่อถูกบังคับให้หยุดเล่นเกมกลางคันหรือถูกขัดจังหวะ ซึ่งมักแสดงออกมาผ่านอารมณ์… โกรธ-หงุดหงิดรุนแรง หรือ แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว แบบที่ควบคุมตนเองไม่ได้, ชอบแยกตัวจากสังคม  โดยตัดขาดจากโลกภายนอก แต่เลือกใช้เวลาอยู่หน้าจอมากกว่า, ละเลยกิจกรรมชีวิตที่เคยทำ เช่น การเรียน การทำงาน ตลอดจนกิจวัตรต่าง ๆ, หมกมุ่นอยู่กับการเล่นเกมตลอดเวลา เพื่อวางแผนที่จะเอาชนะในการเล่นเกมครั้งต่อไป หรือมักจะแสดงอาการโมโหฉุนเฉียวถ้าเล่นแพ้

และสัญญาณบ่งชี้ต่อมาคือ ไม่สามารถหยุดเล่นเกมได้ ทั้ง ๆ ที่ทราบดีว่า มีผลกระทบต่อตนเองอย่างมาก และ ผู้ที่เป็น โรคติดเกม” ส่วนใหญ่มักจะไม่ยอมรับความจริงว่าตนเองนั้นมีปัญหาจากการติดเกม ขณะที่พฤติกรรมด้านลบอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ด้วยเช่นกัน คือ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น พูดโกหกบ่อยขึ้น ขโมยเงินหรือทรัพย์สิน เพื่อที่จะให้ได้เล่นเกม …เหล่านี้เป็น “สัญญาณบ่งชี้” ของ “อาการเสพติดเกม” ที่ทางผู้เชี่ยวชาญระบุไว้ว่า…

มีลักษณะคล้ายกับการติดยาเสพติด!!

ทั้งนี้ “คำแนะนำเพื่อป้องกันปัญหา” นี้ ทาง รศ.ดร.ภญ.จิรภรณ์ ม.มหิดล ระบุไว้ว่า… พ่อแม่ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญที่สุด ในการป้องกันเด็กไม่ให้เกิดภาวะ “โรคติดเกม” ควรตระหนักในการ เสริมสร้างพฤติกรรมให้เด็ก ต้องรู้จัก “จัดสรรเวลา” ระหว่างกิจกรรมอื่น ๆ กับการเล่นเกม อาทิ กำหนดกติกาให้เด็ก ก่อนอนุญาตให้เล่นเกมได้ ว่า…ต้องทำการบ้าน กินข้าว อาบน้ำ ให้เสร็จเสียก่อน หรือ กำหนดเวลาเล่นเกม ห้ามเกินวันละ 2 ชั่วโมง หรือ คัดสรรประเภทเกม ที่จะให้เล่น รวมถึง พยายามหากิจกรรมอื่นมาทดแทน เพื่อให้เด็ก ๆ สนใจกิจกรรมอื่นที่นอกเหนือจากการเล่นเกมด้วย เป็นต้น

“การเล่นเกม หากเล่นอย่างพอดี จะทำให้เด็กได้ฝึกทักษะ สมาธิ และช่วยพัฒนาเรื่องการตัดสินใจให้เด็กได้ รวมถึงช่วยให้กล้ามเนื้อและประสาทของมือกับตาได้พัฒนา แต่ถ้า เล่นเกมจนเกินพอดีมากไป จะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายและสภาพจิตได้ จึงเป็นหน้าที่พ่อแม่ผู้ปกครองที่จะต้องสร้างสมดุล” …ทางผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำไว้

“ติดเกม” เรื่องเดิมเรื่องนี้วันนี้ “ลุกลาม”

ก่อ “โรค” ที่ “ถูกเปรียบกรณียาเสพติด”

“เสพติดเกม…อาจถึงขั้นป่วยจิตได้!!”.