“ดีเดย์” บังคับใช้ พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 หรือ กฎหมายJSOC ตั้งแต่ วันที่ 23 ม.ค. 66 เพื่อป้องกันความผิดซ้ำคดีอุกฉกรรจ์ 3 กลุ่ม จึงเป็นที่คาดหวังสังคมจะปลอดภัยจากอาชญากรหน้าเดิมได้แค่ไหน

หลังกฎหมาย JSOC กำหนดให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูนักโทษอุกฉกรรจ์กลุ่มนี้ได้ ตั้งแต่เข้ารับโทษ ไปจนถึงคำสั่งติดตามเฝ้าระวังหลังพ้นโทษ

“ทีมข่าวอาชญากรรม” พูดคุยกับกรมคุมประพฤติหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ โดย พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ ระบุ นักโทษเด็ดขาดตามมาตรา 3 (ความผิดในเรื่องเพศ, ชีวิตและร่างกาย, เรียกค่าไถ่) ลอตแรกที่จะพ้นโทษระหว่างวันที่ 24-31 ม.ค. นี้ มี 29 คน ตามกฎหมายจะมีคณะกรรมการพิจารณา ก่อนเสนอศาลมีคำสั่งใช้มาตรการ

พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ

โดยกลุ่มแรกจะพิจารณากันในวันที่ 23 ม.ค. นี้ หากศาลพิจารณาทันก็จะมีมาตรการทันที แต่หากไม่ทัน กรมคุมประพฤติจะใช้ระบบเดิมในการติดตามไปก่อน จากนั้นจะเรียกตัวมารับฟังคำสั่งศาลภายหลัง ยอมรับว่ายังเป็นช่วงรอยต่อที่ต้องวางระบบให้ครบถ้วน

สำหรับมาตรการที่ใช้ประกอบด้วย 1.ไม่มีการใช้มาตรการ (เมื่อเล็งเห็นว่าไม่มีพฤตินิสัยเสี่ยงก่อเหตุซ้ำและมีผลทดสอบสุขภาพจิตที่ดี กรมราชทัณฑ์สามารถปล่อยได้โดยไม่ต้องขอใช้กำไล EM) 2.มาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ (ไม่เกิน 10 ปี และใช้กำไล EM) 3.มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ (ไม่เกิน 3 ปี) และ 4.มาตรคุมขังภายหลังพ้นโทษ ร่วมกับมาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ (รวมกันไม่เกิน 10 ปี เช่น หากใช้มาตรการคุมขัง 3 ปี จะเฝ้าระวังได้เพียง 7 ปี)

“หลังบังคับใช้นักโทษเด็ดขาดตามมาตรา 3 จะทยอยพ้นโทษเพราะครบกำหนด เบื้องต้นในปี 66 มีรวมประมาณ 1,500-2,000 คน ส่วนที่อยู่ระหว่างตรวจพิสูจน์ หรือศาลยังไม่ตัดสิน จะให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาล เรื่องใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟู หรือมาตรการอื่นใด ขณะที่นักโทษหน้าใหม่ในชั้นที่อยู่ในการควบคุมของตำรวจ ต้องสอบสวน 2 เรื่อง คือ องค์ประกอบความผิดและภูมิหลัง เพื่อพิจารณาเสนอใช้มาตรการ”

สำหรับข้อกังวลการปล่อยตัวลอตแรก ย้ำว่ากรมราชทัณฑ์มีการประเมินและมีรายการแบบทดสอบสุขภาพจิตก่อน ยกตัวอย่าง หนึ่งในจำนวนนี้ต้องโทษคดีข่มขืนและทำร้าย มีโทษสูง เมื่อจะพ้นโทษก็ต้องดูไปถึงสาเหตุ ซึ่งตรวจสอบจากคำฟ้องพบมาจากการใช้สุรา และมีความผิดปกติทางเพศ ทั้งหมดนี้จะต้องนำไปประกอบการกำหนดมาตรการ เพราะหากกลับไปใช้สุราหรือสิ่งเร้า ก็เสี่ยงก่อเหตุซ้ำได้

“JSOC ออกมาเพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินประชาชน สร้างความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม หากแก้ไขปัญหาและไม่ให้กลุ่มนี้กลับไปทำผิดซ้ำได้ ตรงนี้อาจจะเป็นปัจจัยไปสู่การพิจารณายกเลิกโทษประหารชีวิต เพราะกฎหมายคุมได้อยู่หมัด”

ด้าน นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ย้ำถึงการใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูว่า ศาลจะวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ระหว่างอยู่ในเรือนจำ กรมราชทัณฑ์จะได้ทำหน้าที่บำบัด แก้ไขตรงตามสภาพแต่ละคน ยกตัวอย่าง หากไม่มีปัญหาเรื่องจิตเวช ก็จะแก้ไขบำบัดพฤตินิสัย เช่น พฤติกรรมชอบใช้ความรุนแรง

นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม

ช่วงรอยต่อที่กรมราชทัณฑ์อาจจะปล่อยตัวนักโทษก่อนถูกกำหนดมาตรการใดๆ เพราะครบกำหนดคุมขัง อาจเป็นข้อครหาตามมา แต่ยืนยันว่า ในกลุ่มที่จำเป็นต้องปล่อยตัวเพราะครบกำหนดแล้ว ศาลจะมีคำสั่งให้มารับทราบมาตรการภายหลัง

“สุญญากาศดังกล่าว จากนี้มีกฎกระทรวงที่ระบุไว้อย่างชัดเจนเลยว่า ให้กรมราชทัณฑ์ทำรายงานการจำแนกมาตรการก่อนนักโทษจะพ้นโทษล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 270 วัน เพื่อให้คณะกรรมการสามารถพิจารณากำหนดมาตรการให้นักโทษเสร็จสิ้นทัน ก่อนที่พวกเขาจะพ้นโทษออกมา” รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุ

เป็นกฎหมายอีกฉบับที่น่าจับตาตั้งแต่ต้นปี.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]