รายงานล่าสุดจากการศึกษาวิจัยของทีมนักดาราศาสตร์ระบุว่า ‘หลุมดำ’ ในอวกาศที่มนุษย์รู้จักและอยู่ใกล้โลกมากที่สุดในตอนนี้ มีระยะห่างจากโลกมนุษย์ราว 1,560 ปีแสง

หลุมดำดังกล่าวมีชื่อว่า Gaia BH1 อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus) และอยู่ใกล้โลกยิ่งกว่าหลุมดำที่เคยมีการบันทึกก่อนหน้านี้ว่าอยู่ใกล้โลกมากที่สุดถึง 3 เท่า และมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ในระบบสุริยจักรวาลถึง 10 เท่า 

รายงานล่าสุดเรื่องหลุมดำนี้เป็นผลงานของทีมนักดาราศาสตร์จาก NOIRLab โดยมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา ที่เฝ้าสังเกตการณ์ที่หอดูดาวนานาชาติ Gemini Observatory ในฮาวาย 

จากการแถลงข่าง ทีมงาน NOIRLab ระบุว่า การค้นพบครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบหลุมดำดาวฤกษ์ที่อยู่ในภาวะสงบนิ่งบนกาแลกซีทางช้างเผือก

มีการประเมินไว้ว่า เฉพาะบนกาแลกซีทางช้างเผือกนั้น มีหลุมดำดาวฤกษ์อยู่ประมาณ 100 ล้านแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอยู่ในภาวะที่กำลังตื่นตัว ซึ่งหมายถึงอยู่ในภาวะที่กำลังกลืนกินมวลสารและพลังงานจากกลุ่มดาวที่อยู่รอบ ๆ 

ทีมวิจัยอาศัยกล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาว Gemini และค้นพบ Gaia BH1โดยสังเกตรูปแบบการเคลื่อนไหวของดาวฤกษ์ที่อยู่คู่กับหลุมดำ และโคจรรอบหลุมดำนี้โดยวงโคจรมีระยะห่างกันพอ ๆ กับวงโคจรของโลกและดวงอาทิตย์ พวกเขายังระบุว่ามีหลุมดำดาวฤกษ์ไม่กี่แห่งในกาแลกซีที่สามารถตรวจจับได้โดยอาศัยพลังงานที่เกิดจากปฏิกิริยาโต้ตอบระหว่างหลุมดำและดาวที่อยู่คู่กัน

เมื่อมวลสารจากดาวฤกษ์มีอุณหภูมิสูงขึ้นและสร้างรังสีเอ็กซ์ออกมา แล้วพุ่งออกไปในลักษณะเป็นเกลียวยังหลุมดำ ถ้าหากหลุมดำนั้นอยู่ในภาวะสงบนิ่งหรือ “หลับ” อยู่ มันจะกลืนหายไปกับสภาพแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ทีมงานยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า ทั้งดาวฤกษ์และหลุมดำคู่นี้มาอยู่คู่กันในลักษณะดังกล่าวได้อย่างไร 

ก่อนหน้ามีการค้นพบ Gaia BH1 หลุมดำที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดนั้น อยู่ห่างออกไปราว 3,200 ปีแสง แต่ทีมนักดาราศาสตร์กลุ่มนี้เชื่อว่าหลุมดำเหล่านี้ยังไม่ใช่จุดที่อยู่ใกล้โลกที่สุด เพราะยังมีหลุมดำอีกมากในกาแลกซี่ที่มนุษย์ตรวจไม่พบ

แหล่งข่าว : foxnews.com, sciencenews.org

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES