ซ้อม ทรมาน เค้นข้อมูล เรียกผลประโยชน์…เงี่ยหูฟังเขาว่ากันว่ามานานแล้ว  แต่ครั้งไหนๆ ก็ไม่ “คาหนัง คาเขา” เหมือนคดี สภ.เมืองนครสวรรค์  ที่ “ผู้บังคับบัญชา”นำทีม “ลูกน้อง” ลงมือใช้ถุงดำคลุมหัว “ผู้ต้องหา” จนขาดอากาศหายใจตาย “คามือ”

ทุกขั้นตอน ทุกคำพูด บันทึกผ่านกล้องวงจรปิดในที่ทำงาน ไม่ใช่การรอดชีวิตออกมาบอกเล่าเหมือนกรณีอื่น ๆ ให้ปฏิเสธได้ ที่สำคัญครั้งนี้…ทุกวินาทีอันโหดเหี้ยม  ถูกเผยแพร่สู่สายตาประชาชน

ไร้คำพูด มีเพียงความรู้สึกสิ้นศรัทธาที่เกิดขึ้นทันที เป็นอีกครั้งที่กระบวนการยุติธรรมถูกท้าทายโดย “ผู้ใช้อำนาจ” ซะเอง 

“ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” “ที่พึ่งของประชาชน” คงเรียกได้ไม่เต็มปากอีกพักใหญ่ แม้พยายามเชื่อว่าเป็นเพียงพฤติกรรมของตำรวจส่วนน้อย แต่ใจหนึ่งกลับแอบคิดว่าเป็นเพียง “ส่วนน้อย” ที่มี “หลักฐานชัดเจน” ออกมามากกว่า เพราะหากไม่ใช่ “คนใน” หรือสำนึกจิตใจ “ส่วนดี” หลักฐานและข้อเท็จจริงเหล่านี้คงไม่มีโอกาสเผยออกมา 

กลายเป็นอีกชีวิตที่จากไปอย่างไร้ความเป็นธรรมสิ้นดี!

คดีนี้สะท้อนให้เห็นหลายมุมมองนอกเหนือพฤติกรรมตรงหน้า ยังตอกย้ำถึงการใช้อำนาจหน้าที่ กอบโกย หาประโยชน์  จนเติบโต ร่ำรวย เกินอาชีพ…

“เครื่องแบบ” และหน้าที่การงานถูกใช้เป็น “อาวุธ” ปกป้องการกระทำผิดของตัวเอง สร้างความหวาดกลัวให้ประชาชน ซึ่งยังไม่รู้ว่าความบิดเบี้ยวจากน้ำมือ “ผกก.” รายนี้ยังมีคดีอื่นอีกหรือไม่ และมีตำรวจอีกมากน้อยแค่ไหนที่กระทำพฤติกรรม “นอกรีต” เช่นนี้อยู่  

ณ ขณะนี้กระบวนการยุติธรรมเดินมาถึงแยกสำคัญ เมื่อ “ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” หนึ่งคดีใหม่ “ฉาวโฉ่” สมทบกับหนึ่งคดีเก่าที่สร้างบาดแผล “สาหัส” และยังรักษาไม่หาย 

ขบวนการสมคบคิดช่วยเหลือผู้ต้องหาทายาทตระกูลดัง “วรยุทธ  อยู่วิทยา” ให้พ้นผิดจากคดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 เป็นคดีสั่นสะเทือนที่อาจเรียกว่าที่สุด เพราะระดับความเสียหายกระทบกระเทือนโยงใยตลอดสายธารยุติธรรมเริ่มจาก ตำรวจ อัยการ ทนายความ ไปจนถึงนักการเมือง 

ปัจจุบันจะครบ 9 ปี ในวันที่ 3 ก.ย.นี้  คดีหลัก “ผู้ต้องหา” ยังลอยนวล และนับถอยหลังจวนขาดอายุความอีกข้อหาในปีหน้า (ข้อหาเสพโคเคน) ทำให้อาจเหลือเพียงข้อหาเดียวที่เอาผิดได้คือ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต อายุความถึงวันที่ 3 ก.ย. 2570  

ดูแล้วไม่มีวี่แววกลับมาสู้คดี ขณะที่สัญญาณติดตามตัวก็เงียบงัน จนความหวังริบหรี่…

เร็ว ๆ นี้มีหนึ่งผลสอบสำคัญที่จะชี้ชะตาความเชื่อมั่น เป็นตัวอย่างการตรวจสอบความผิดของผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม กับกรณี นายเนตร  นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด ผู้เซ็นคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธในขณะนั้น หลัง นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิ ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้น สรุปผลสอบพร้อมความเห็นส่งถึงมือ นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธาน ก.อ. ที่ต้องลุ้นมติที่ประชุม ก.อ.วันที่ 10 ก.ย.นี้

บทเรียนซ้ำๆ จากผู้ใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรม ทำให้ตระหนักว่าการปฏิรูป เปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยกฎหมาย บางทีอาจไม่สำคัญเท่าการ “ลงมือทำ” ให้ประจักษ์ว่า หลังจากนี้จะกลับมาเป็นความหวังที่สังคมเชื่อมั่น และยึดเหนี่ยวอีกครั้งได้จริงๆ

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]